ไก่ฟ้าหางลายขวาง
ไก่ฟ้าหางลายขวาง (อังกฤษ: Hume's pheasant, Mrs Hume's pheasant, Bar-tailed pheasant; ชื่อวิทยาศาสตร์: Syrmaticus humiae) เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ พบในประเทศจีน, ประเทศปากีสถาน, ประเทศอินเดีย, ประเทศพม่า และ ประเทศไทย ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษถูกตั้งตามชื่อของ มารี แอนน์ กรินดอลล์ ฮิม ภรรยาของอัลลัน อ๊อตทาเวียน ฮิม นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ
เพราะการสูญเสียที่อยู่และถูกล่าเป็นอาหาร ไก่ฟ้าหางลายขวางจึงจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามความเสี่ยงต่ำ (NT) ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของ CITES
ลักษณะ
ไก่ฟ้าหางลายขวางเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ ตัวผู้มีขนาดยาว 90 เซนติเมตร โดยเป็นหางประมาณ 40-54 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดยาวเพียง 60 เซนติเมตร หัวสีน้ำตาลออกเทา หนังบนใบหน้าสีแดงสด ขนสีน้ำตาลแดง ปากสีเหลือง ตาส้มออกน้ำตาล ช่วงไหล่มีแถบขาวกว้างเห็นได้ชัดเจนและมีแถบขาวที่แคบกว่าอีก 2 แถบบนปีกคอสีฟ้าออกม่วงเหลือบ ตัวผู้มีหางยาวสีขาวออกเทา มีลายขวางสีน้ำตาลแดงและสีดำ ตัวเมียขนมีสีน้ำตาลแดง คอแกมขาว ท้องสีเนื้อ หางมีสีขาวตรงปลาย
ไก่ฟ้าหางลายขวางเพศผู้เเละเพศเมีย
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ไก่ฟ้าชนิดนี้มีเขตแพร่กระจายค่อนข้างแคบ พบในตอนใต้ของประเทศจีน, ประเทศปากีสถาน, ประเทศอินเดีย, ตอนเหนือของประเทศพม่า และ ตอนเหนือของประเทศไทย อาศัยอยู่บนเทือกเขาในป่าดงดิบเขาและป่าสนซึ่งมีดงหญ้าคาแทรกอยู่บนลาดเขาในที่ระดับความสูงตั้งแต่ 900 -1,500 เมตร อาทิ ดอยหลวงเชียงดาว
พฤติกรรม
ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเวลากลางวันนอนซุกตัวอยู่ในดงทึบ และออกมาหากินในตอนเช้ามืด และตอนพลบค่ำในที่โล่ง กินเมล็ดพืช ลูกไม้ป่าเป็นหลัก อาจมีสัตว์เล็กๆบ้าง ในตอนกลางคืนจะเกาะนอนบนยอดไม้สูง ปกติหากินเป็นฝูง 3-5 ตัวหรือเป็นกลุ่มครอบครัวซึ่งมีตัวผู้เพียงตัวเดียว ที่เหลือเป็นตัวเมียและลูกนกอายุน้อย เชื่อว่าทำรังในเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน วางไข่ 3-12 ฟองบนพื้นดิน กกไข่ 27 -28 วันจึงฟักเป็นตัว ตัวเมียจะเป็นผู้ดูแลลูกนก
คลิปจากYOUTUBE