เริ่มแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท !
ก.คมนาคม จัดการสัมมนาในหัวข้อ "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ประเทศชาติ และประชาชนได้อะไร" โดยเชิญหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เข้าร่วมแสดงความเห็น และข้อเสนอแนะ
หลังจากที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะเวลานาน จนทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในปี 2555 มาอยู่อันดับที่ 39 หรือ หล่นมา 11 อันดับ จากในปี 2551 ที่ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 28 จึงสะท้อนให้เห็นว่า หากประเทศไทยยังไม่เร่งพัฒนาในตอนนี้ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอาจอยู่รั้งท้ายได้
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มต้นระบบรางมาดีแล้ว แต่ที่ผ่านมาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการสร้างถนนมากกว่าระบบราง ส่งผลการพัฒนารถไฟไทยไม่ต่อเนื่อง ต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะให้ความสำคัญกับระบบรางมากกว่า เพราะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการคมนาคม และเชื่อมั่นว่าจะสร้างผลกำไรให้กับประเทศมหาศาล
ด้าน นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการระดมทุนการลงทุนภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานตัวแทนกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โดยภาพรวมประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจพอสมควร และมีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นการก่อหนี้สาธารณะ เพราะใช้เงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
สำหรับโครงการก่อสร้างในแผนนี้ กว่าร้อยละ 80 จะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียง 300 กิโลเมตร จากจำนวนเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ 4,043 กิโลเมตร ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทางทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี
สำหรับนิทรรศการแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ภายใต้ชื่อ "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก" จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมจนถึงวันที่ 12 มีนาคมนี้ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันนะคะ
ขอบคุณ
Voice tv