ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ
คัมภีร์ปราณะได้บันทึกไว้ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 1 กล่าวถึงการกำเนิดพระพิฆเนศในฐานะเทพ และโอรสของพระแม่อุมาเทวีกับพระศิวะเทพ โดยแต่ละตำนานได้กล่าวไว้แตกต่างกัน ดังนี้
ตำนานที่หนึ่ง ปราบอสูรและรากษส
เมื่ออสูรและรากษส ทำการบวงสรวงพระศิวะเพื่อขอพรต่อพระองค์จนได้รับพร สมประสงค์ ต่อเมื่อได้ใจกลับรุกรานเหล่าเทวดาให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว จนความถึงพระอินทร์จึงจำต้องพาเหล่าเทวดาทั่งหลายไปขอเข้าเฝ้าพระศิวะเจ้า เพื่อขอให้ทรงหนหนทางหรือผู้ที่จะปราบเหล่าอสูรและรากษสใจพาลเหล่านั้น เมื่อได้ฟังคำร้องทุกข์จากเหล่าเทวดาแล้ว พระศิวะจึงทรงแบ่งกายเป็นบุรุษรูปงามซึ่งจะไปถือกำเนิดในครรภ์ของพระอุมาเทวี เมื่อถึงเวลากำเนิดแล้ว พระองค์จึงทรงให้พระนามว่าพระวิฆเนศวรเพื่อทำหน้าที่ปราบอสูรและรากษสทั้งหลาย เมื่อเสร็จสิ้นการปราบอสูรแล้ว พระองค์จึงทรงมอบหมายให้พระวิฆเนศวรทรงเป็นผู้ขัดขวาง และป้องกันเหล่าผู้มีจิตใจพาลต่างๆ ที่จะมาขอพรจากพระศิวะเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทึ้งเป็นผู้คัดสรรเหล่าเทวดาและมนุษย์ผู้ทำกรรมดีและช่วยเหลือให้ค้นพบกับความสำเร็จ จากการขอพรต่อพระศิวะต่อไป
ตำนานที่สอง พระปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) ปั้นเหงื่อไหลให้เป็นพระบุตร
เมื่อคราวที่พระปารวตีสรงน้ำอยู่ในอุทยาน พระองค์ทรงนำเหงื่อไคลของพระองค์มาปั้นเป็นหุ่นเทวบุตรรูปงาม และทรงใช้เวทย์มนต์เพื่อให้หุ่นนั้นมีชีวิตขึ้นมา จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้เทวบุตรออกไปเฝ้ายังด้านหน้าประตูทางเข้าอุทยาน โดยได้รับสั่งว่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาโดยเด็ดขาด เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดทุกครั้งที่พระแม่อุมาทรงสรงน้ำ ณ อุทยานแห่งนี้ จนกระทั่งเมื่อถึงวันกำหนดเสด็จกลับของพระศิวะ และเมื่อทั้งสองพระองค์พบกันในคราแรกต่างก็จะเข้าไปในอุทยาน อีกฝ่ายก็ปกป้องมิให้ผู้ใดย่างกายเข้าในอุทยานได้ด้วยเทวบุตรทรงได้รับคำสั่งของพระอุมา ห้ามมิให้ผู้ใดล่วงละเมิดเข้าไปยังสถานที่สรงน้ำแห่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนั้นพระศิวะจึงทรงสั่งให้บริวารเข้าต่อสู้และได้สังหารเทวบุตร (แต่ในบางคัมภีร์ก็ว่าพระศิวะทรงใช้ตรีศูลตัดเศียรเทวบุตรนั้น บ้างก็ว่าพระวิษณุทรงใช้จักรตัดเศียร)
เมื่อพระปารวตีทรงพบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระองค์ทรงโกรธและโมโหพระสวามียิ่ง จนถึงกับทำศึกใหญ่ระหว่างทั้งสองพระองค์ ร้อนถึงพระฤาษีนารอด (นารท) ต้องออกรับหน้าเจรจาศึกในครานี้ โดยพระปราวตีได้กล่าวให้พระศิวะผู้สวามีต้องหาหนทางให้เทวบุตรฟื้นชีวิตจึงจะยอมสงบศึกให้
พระศิวะจึงทรงมีคำสั่งให้เทวดาผู้เป็นบริวารเดินทางไปทิศเหนือ และให้ตัดศรีษะของสิ่งมีชีวิตแรกที่พบเพื่อนำมาต่อให้กับเทวบุตรผู้เป็นโอรส ไม่นานนักเทวดาก็เดินทางกลับมาพร้อมกับนำเศียรช้าง (มีงาเดียว) เพื่อมาต่อให้พระโอรส ซึ่งต่อมาจึงทรงตั้งพระนามใหม่ คือ คชานนะ (มีหน้าเป็นช้าง) และเอกทันต (ผู้มีงาเดียว) เมื่อได้ชุบชีวิตฟื้นแล้วพระปราวตีจึงทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ฟังว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระบิดาและพระโอรส ซึ่งฝ่ายโอรสได้ฟังดังนั้นถึงกลับหมอบกราบขออภัยโทษเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตน พระศิวะทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงกับประทานพรให้พระโอรสให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือเหล่าภูตผีทั้งปวง และทรงแต่งตั้งให้เป็น คณปติ ผู้เป็นใหญ่ในที่สุด
ตำนานที่สาม ขวางคนชั่วที่ต้องการล้างบาป ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร
ตำนานกล่าวถึงว่าพระปารวตีได้ทรงนำน้ำที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมเหงื่อไคล ปั้นเป็นเทวบุตรรูปเป็นมนุษย์แต่มีเศียรเป็นช้าง จากนั้นจึงนำน้ำจากพระคงคามาประพรมเพื่อให้มีชีวิตขึ้นมา โดยมีพระประสงค์ให้ไปขัดขวางคนชั่วที่จะไปบูชาศิวลึงค์ เพราะหวังที่จะล้างบาปตนเอง ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร เพื่อไม่ให้ตนตกขุมนรก
จากเรื่องเล่านี้ ทำให้ชาวฮินดูทั้งหลายนิยมนำรูปปั้นพระพิฆเนศมาจุ่มน้ำ ณ วัดคเนศจาตุรถี หรือบางครั้งก็จะนำเทวรูปเล็กๆ นำไปทิ้งตามแม่น้ำคงคาด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำจากแม่น้ำคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง
ตำนานที่สี่ พระกฤษณะอวตาร
เล่าไว้ว่าเมื่อครั้งพระปารวตียังไม่มีโอรส พระศิวะเทพผู้สวามีจึงให้คำแนะนำว่าให้จัดทำพิธีปันยากพรต (การบูชาพระวิษณุเทพในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนมาฆะ) โดยใช้เวลาในการทำพิธีตลอด 1 ปี ซึ่งหากทำโดยตลอดจนครบก็จะประสบความสำเร็จในการขอบุตร ซึ่งพระกฤษณะจะอวตารมาจุติ ต่อเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามคำของพระศิวะเทพแล้ว เหล่าเทพเทวดาทั้งหลายก็ได้มาร่วมอวยพรกับการถือกำเนิดของพระโอรสพระองค์นี้ รวมถึงเทพศนิ (พระเสาร์) ก็เข้ามาร่วมพิธีอวยพรด้วย ซึ่งพระศนิพระองค์นี้มีเรื่องกล่าวไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงเพ่งมองสิ่งใดมักจะเกิดไฟเผาผลาญสิ่งนั้นๆ จนหมดสิ้นไป
ในคราวเข้าร่วมพิธีอวยพร พระศนิก็ทรงได้ชื่นชมพระโอรส จนเผลอตนเพ่งมองพระโอรสจนเศียรของพระกุมารหลุดกระเด็นไปยังโคโลก (ที่ประทับพระกฤษณะ) พระศิวะจึงมีบัญชาให้พระวิษณุออกตามหาเศียรพระโอรส แต่ก็ไม่ทรงพบต่อมาเมื่อผ่านแม่น้ำบุษปภัทร พระวิษณุทรงแลเห็นช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรช้างนั้นนำกลับมาต่อให้พระโอรส
ตำนานที่ห้า พระศิวะ-พระปารวตีแปลงเป็นช้าง
คราหนึ่งพระศิวะและพระปารวตีได้เสด็จไปยังภูเขาหิมาลัย ได้แลเห็นช้างกำลังสมสู่กัน จึงบังเกิดความใคร่ จากนั้นจึงทรงแปลงกายเป็นช้างและสมสู่กันจนเกิดพระโอรส นามพระพิฆเนศ
ตำนานที่หก พระวิษณุเทพ เปล่งวาจากสิทธิ์ในพิธีโสกันต์
จากที่พระศิวะและพระปารวตีทรงจัดพิธีโสกันต์ให้กับพระโอรสในพิธีฤกษ์คือ วันอังคารจึงได้แจ้งเชิญเทพทั้งหลายทั้งมวลมาเป็นสักขีพยาน แต่คงยังขาดเพียงองค์วิษณุเทพที่ทรงอยู่ระหว่างบรรทม จนเมื่อใกล้เวลาอันเป็นมงคล พระศิวะเทพจึงทรงให้พระอินทร์นำสังข์ไปเป่าเพื่อปลุกให้พระวิษณุเทพตื่นจากบรรทม เมื่อพระวิษณุเทพทรงตืนจากบรรทมด้วยเสียงดังของสังข์ จึงทำให้พระวิษณุเทพพลั่งโอษฐ์ออกไปว่า "ไอ้ลูกหัวขาดจะนอนให้สบายก็ไม่ได้" เพียงวาจานี้ถึงกลับทำให้เศียรของพระโอรสหายไปในทันที เหล่าเทพทั้งหลายเมื่อเห็นดังนี้แล้วจึงปรึกษากันว่า วันอังคารถือเป็นฤกษ์ไม่ดีขอห้ามทำพิธีการมงคลใดๆ ทั้งมวล กลับถึงเรื่อง พระเศียรของโอรสพระศิวะเทพจึงมีบัญชาให้พระวิษณุกรรมไปตัดหัวมนุษย์ที่เพิ่งสิ้นชีวิต ณ ทิศตะวันตก แล้วนำกลับมาโดยเร็ว แต่ในวันนั้นหาได้มีมนุษย์ผู้ใดสิ้นอายุขัยลง พระวิษณุกรรมแลเห็นเพียงช้างพลายงาเดียวเท่านั้นที่สิ้นชีวิตลง จึงตัดหัวช้างพลายตัวนั้นกลับมาถวายพระศิวะเทพ
ในช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธกำลังเติบโตในอินเดีย มีเรื่องเล่ากล่าวในตอนนี้ว่า เมื่อเทวดานำหัวช้างมาต่อแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้พระโอรสฟื้นชีวิตได้ พระศิวะเทพจึงต้องให้พระวิษณุเทพไปทูลเชิญเสด็จพระศิริมานนท์อรหันต์ ให้โปรดเสด็จมาสวดพระคาถาชินบัญชรจนสำเร็จทำให้พระโอรสฟื้นชีวิต
หรือบ้างก็กล่าวว่าในพิธีโสกัณต์ พระราหูได้เตือนพระศิวะแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จึงควรทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย แต่พระศิวะเทพก็หารับฟังไม่ บ้างก็ว่าพระอังคารไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีจึงโกรธแค้น และได้ลอบตัดเศียรพระโอรสไปโยนทิ้งทะเล
ขอขอบคุณ - ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ www.phraphuttharoop.com