ศึกทาลัส สงครามเปลี่ยนโลก (The Battle of Talas)
แม้สงครามจะนำมาซึ่งความตายและสูญเสีย แต่มีสงครามครั้งหนึ่งที่ผลของมันได้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งการเขียนให้เจริญก้าวหน้า เนื่องจากมันได้ทำให้สิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งแพร่กระจายออกสู่ชาวโลกในเวลาต่อมา ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านั้น ก็คือ กระดาษ และสงครามที่เปลี่ยนโลกในครั้งนั้นก็คือ สงครามแห่งทาลัส
สงครามแห่งทาลัส เกิดขึ้นในปี ค.ศ.751 โดยเป็นการปะทะกันระหว่างราชวงศ์อับบาซิดของอาหรับและราชวงศ์ถังของจีน เพื่อเข้าครอบครองพื้นที่แถบไซร์ ดาร์ยา ในเตอรกิสถานตะวันตก ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญในการควบคุมเส้นทางการค้าของดินแดนเอเชียกลาง สงครามครั้งนี้ได้ยุติความพยายามของราชวงศ์ถังในการขยายอำนาจมาทางตะวันตก และก่อให้เกิดขอบเขตแห่งพรมแดนทางตะวันตกของจีน ในยุคต่อมาด้วย แต่ผลที่ยิ่งใหญ่ของมันคือการที่ทำให้ชาวมุสลิมได้รู้จักกระดาษเป็นครั้งแรกและนำกระดาษไปแพร่กระจายยังดินแดนโลกตะวันตก
นับแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จีนได้แผ่ขยายแสนยานุภาพมาทางตะวันตกเข้าไปยังดินแดนเอเชียกลาง โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมโอเอซิสและหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทางการค้าสำคัญที่รู้จักกันในชื่อ เส้นทางสายไหม ซึ่งผลจากความสำเร็จในการนี้ได้นำมาซึ่งความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นนโยบายของราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนที่ครองอำนาจในยุคต่อมา จนมาถึงยุคราชวงศ์ถัง ในรัชสมัยของถังไท่จง จักรพรรดิองค์ที่สอง พระองค์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขยายดินแดนมาทางตะวันตก โดยกองทัพจีนได้พิชิตชนเผ่าเชื้อสายเติร์กเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเอเชียและสร้างป้อมปราการเข้าควบคุมดินแดนและชนเผ่าที่พิชิตได้
ในช่วงเวลาที่ราชวงศ์ถังกำลังแผ่แสนยานุภาพเข้าไปในเอเชียกลางนั้น อีกฟากหนึ่งของดินแดนดังกล่าว คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันออกลางถูกปกครองโดยชาวมุสลิมอาหรับภายใต้อำนาจของราชวงศ์อุมัยยัด ทว่าในเวลาต่อมาอำนาจปกครองก็ได้เปลี่ยนมือไป โดยเริ่มจากการโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยัดด้วยฝีมือของราชวงศ์อับบาซิด
และในปี ค.ศ. 750 อบู อัล อับบาส อัล ซาฟา ผู้ก่อตั้งราชวงศ์อับบาซิดก็ได้ยกทัพใหญ่ไปทำสงครามกับกองทัพที่เหลือของฝ่ายอุมัยยัดซึ่งตั้งทัพอยู่ที่เมืองคูราสซาน กองทัพของอับบาซิดได้ชัยชนะครั้งใหญ่เหนือพวกอุมัยยัดที่ซาบบ์ จากนั้นพวกอุมัยยัดที่เหลือก็แตกพ่ายหนีไปยังแอนดาลุส ซึ่งเมื่อทรงทราบดังนั้น กาหลิป อบู อัล อับบาสก็ได้ส่งกองทัพไล่ติดตามเพื่อกวาดล้างพวกอุมัยยัดไม่ให้เหลือเป็นเสี้ยนหนามอีก
กองทัพราชวงศ์อับบาซิดได้ไล่ล่าพวกอุมัยยัดจากแอนดาลุสเข้าไปในเอเชียกลางและหลังจากที่กำจัดฝ่ายตรงข้ามได้หมดสิ้นแล้ว กาหลิป อบู อัล อับบาสก็ทรงมีบัญชาให้กองทัพของพระองค์เคลื่อนพลเข้าสยบเมืองต่างๆในแถบนี้เพื่อขยายอำนาจของมุสลิม ซึ่งการขยายอำนาจครั้งนี้เอง ทำให้กองทัพอาหรับรุกล้ำเข้าไปยังขอบเขตอำนาจของจีนในเอเชียกลาง ซึ่งในเวลานั้นตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิถังเสียนจงแห่งราชวงศ์ถัง
(แม่น้ำทาลัส)
เมื่อทราบว่ากองทัพอาหรับรุกล้ำเขตแดนของตน กองทัพราชวงศ์ถังก็เคลื่อนพลออกจากที่มั่นในเอเชียกลางเพื่อเตรียมรับศึก และในเดือนกรกฏาคม ปีค.ศ.751 กองทัพอาหรับของราชวงศ์อับบาซิดได้เผชิญหน้ากับกองทัพของราชวงศ์ถังที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำทาลัส ในเตอรกิสถานตะวันตก (แม่น้ำดังกล่าวไหลจากต้นน้ำบนภูเขาซึ่งปัจจุบันอยู่ในคีกิซสถานเข้าไปในดินแดนที่ปัจจุบันคือคาซัคสถาน บนฝั่งขวาของแม่น้ำมีเมืองเล็ก ๆ ชื่อ ทารัส)
โดยตามบันทึกของฝ่ายจีนนั้น เล่าว่ากองทัพอาหรับมีกำลังพลมากถึงสองแสนคน อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์คิดว่าจำนวนดังกล่าวน่าจะเป็นการประมาณการที่เกินจริงไปมาก ส่วนจำนวนพลจริงของฝ่ายอับบาซิดอาจจะมีอยู่ประมาณหกหมื่นถึงเจ็ดหมื่นเท่านั้น ส่วนกองทัพราชวงศ์ถังนั้นมีทหารชาวจีนหนึ่งหมื่นนายพร้อมกับนักรบรับจ้างชาวเผ่าคาลักอีกสองหมื่น ทั้งยังได้เรียกกองทัพพันธมิตรจากเฟอร์กานา (ปัจจุบันอยู่ในอุซเบกิซสถาน) มาเป็นกำลังเสริมด้วย สำหรับผู้บัญชาการฝ่ายจีนคือ แม่ทัพเกาเสียนฉีและรองแม่ทัพอีกสองคนคือ หลี่ซีเย่ กับ ต้วนชิวสวี ส่วนกองทัพอาหรับอับบาซิดนำโดย แม่ทัพไซยัด อิบบัน ซาลิ
หลังเผชิญหน้ากัน ทั้งสองฝ่ายได้ยึดที่มั่นและส่งกองทหารเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด ทว่าหลังจากการรบดำเนินมาได้ไม่นาน นักรบคาลักสองหมื่นคนของฝ่ายราชวงศ์ถังก็ได้แปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายอับบาซิด เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน นอกจากนี้ กองทัพพันธมิตรจากเฟอร์กานาก็ไม่ได้มาตามสัญญา ทำให้กองทัพราชวงศ์ถังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ
(กองทหารอับบาซิดปะทะกับทหารราชวงศ์ถัง)
พวกคาลักได้โจมตีที่มั่นของกองทัพราชวงศ์ถังจากทางด้านหลังและทางปีกซ้ายขวา ขณะที่ฝ่ายอับบาซิดได้ทุ่มกำลังเข้าตีทางด้านหน้าทำให้กองทัพถังไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ และเมื่อเห็นว่ากองทัพของตนกำลังจะแพ้ แม่ทัพเกาเสียนฉีจึงนำกองทหารตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกไป ทว่าจากกำลังทหารหนึ่งหมื่นนาย มีทหารจีนเพียงสองพันคนเท่านั้นที่สามารถหนีรอดจากสนามรบไปถึงที่มั่นของพวกเขาในเอเชียกลางได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะพ่ายแพ้และสูญเสียกำลังไปมาก แต่กองทัพจีนก็ได้สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายอาหรับเป็นอันมากเช่นกัน จนทำให้พวกอาหรับต้องยุติการเคลื่อนทัพต่อ
หลังการรบครั้งนั้น แม่ทัพเกาเสียนฉีได้วางแผนจะยกทัพมาทำศึกกับพวกอาหรับอีกครั้ง แต่ได้เกิดกบฏอานลู่ซานขึ้นในจักรวรรดิ ทำให้กองทหารราชวงศ์ถังในเอเชียกลางถูกเรียกกลับไปปราบกบฏ จากนั้นไม่นาน ชนเผ่าต่างๆที่เคยสยบก็พากันแยกตัวเป็นอิสระ ขณะเดียวกันหลังการกบฏของอันลุซานถูกปราบลงได้ ราชวงศ์ถังก็อ่อนแอเกินกว่าจะแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชียกลางอีกครั้ง จึงเป็นโอกาสให้ชนเผ่าต่าง ๆ แถบนี้ตั้งอาณาจักรอิสระของตนเอง
สงครามที่ทาลัสส่งผลให้ชาวมุสลิมได้ครอบครองพื้นที่ไซร์ ดาร์ยา ในเตอรกิสถานตะวันตกและสามารถควบคุมการค้าบนเส้นทางสายไหมได้ แต่ผลที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น กลับมาจากเชลยชาวจีนที่ถูกจับได้จากสงครามครั้งนี้ ในบรรดาเชลยเหล่านี้มีช่างทำกระดาษรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก ซึ่งในเวลาดังกล่าวกระดาษยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตะวันออกกลางและยุโรป ผู้คนในแถบนี้จะใช้หนังสัตว์ แผ่นดินเหนียว หรือไม่ก็ปาปิรัสซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก ในการขีดเขียนตัวอักษรต่างๆ ทว่าชาวจีนเรียนรู้วิธีทำกระดาษมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นโดยขันทีชื่อไช่หลุน เป็นคนคิดประดิษฐ์กระดาษขึ้นจากเยื่อไม้ผสมกับเศษผ้า ก่อนจะพัฒนาเป็นการผลิตจากเยื่อไม้ในภายหลัง จากนั้นกระดาษก็มีใช้แพร่หลายทั่วทุกหัวเมืองต่าง ๆ ของจีน
(การทำกระดาษของจีนโบราณ)
การที่ชาวมุสลิมได้เทคโนโลยีการผลิตกระดาษไปจากเชลยชาวจีน ทำให้พวกเขาสามารถใช้กระดาษในการบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งการใช้งานในการติดต่อสื่อสารได้ดีมากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความรู้แขนงต่างๆสามารถกระจายไปทั่วดินแดนมุสลิมได้อย่างรวดเร็วทำให้วิทยาการและงานวรรณกรรมของโลกมุสลิมเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และเมื่อพวกอัศวินชาวยุโรปเข้าไปทำสงครามครูเสดกับชาวมุสลิมในดินแดนปาเลสไตน์ก็ได้นำเอาพวกช่างทำกระดาษ ที่นั่นกลับมายังทวีปยุโรปด้วยและทำให้กระดาษแพร่หลายไปทั่วยุโรป ก่อนจะแพร่กระจายและได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบัน