อิมโฮเทป เทพเจ้าที่กำเนิดจากสามัญชน
อียิปต์โบราณ
อิมโฮเทป (Imhotep)
ดินแดนอียิปต์โบราณ เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของฟาโรห์ มัมมี่ แม่น้ำไนล์ ชีวิตหลังความตาย รวมทั้งเรื่องราวอันน่าสนใจของเทพเจ้ามากมายหลายร้อยองค์ ซึ่งมีทั้งเทพเจ้าที่เป็นสัตว์ เทพเจ้าที่มีร่างเป็นมนุษย์แต่มีศรีษะเป็นสัตว์ หรือจะเป็นเทพเจ้าที่มีร่างและศรีษะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นโอซิริส ไอซิส ฮอรัส อานูบิส
อย่างไรก็ตาม มีเทพเจ้าของอียิปต์โบราณอยู่ 2 องค์ซึ่งไม่ได้มาจากจินตนาการและพฤติกรรมของสัตว์ใดๆทั้งสิ้นแต่มาจากบุคคลธรรมดาสามัญ ซึ่งถูกชาวอียิปต์โบราณในยุคหลังยกย่องบูชาในฐานะของเทพเจ้า ซึ่งเทพเจ้าทั้งสององค์นี้คือ อิมโฮเทป และอเมนโฮเทป ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่อิมโฮเทป
อิมโฮเทปเป็นชนชั้นสามัญโดยกำเนิด ตำแหน่งของเขาที่ถูกจารึกไว้มีหลายตำแหน่ง เช่น อัครมหาเสนาบดีหลวง ผู้ปกครองคฤหาสน์ สมาชิกแห่งชนชั้นสูง และผู้ดูแลช่างก่ออิฐและช่างสีนอกจากนั้นตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆยังมีอีกมากมาย เช่นสถาปนิก แพทย์ นักประพันธ์ และนักบวชแห่งเทพปทาห์ ในฐานะนักบวชแห่งเทพปทาห์มีตำนานกล่าวว่า อิมโฮเทปเป็นบุตรของเทพปทาห์ โดยมีพระมารดาเป็นมนุษย์นามว่า ครีดูอังค์
อิมโฮเทป (Imhotep)
ในช่วงชีวิตของอิมโฮเทป เขาก้าวเข้าสู่ความรุ่งเรืองโดยไต่เต้ามาจากนักบวช จนได้ดำรงตำแหน่งนักบวชชั้นสูง แต่เขาก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เขายังศึกษาหาความรู้ด้านอื่นๆไปด้วย เช่นเรื่องของการแพทย์ การประพันธ์ และความรู้ทั่วๆไป
อิมโฮเทปยังไม่ได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าในตอนที่ยังมีชีวิต แต่เขาได้รับการเคารพบูชาเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์ในสมัยที่ ฟาโรห์ปโตเลมี เข้าปกครองประมาณปี 300 BC และเนื่องด้วยชื่อเสียงของอิมโฮเทปที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหาความรู้ทำให้อิมโฮเทปเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทพ ธอธ ซึ่งเป็นเทพแห่งการเรียนรู้และความฉลาดอีกด้วย
ผลงานเด่นๆของอิมโฮเทปในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คือพีรามิดขั้นบันไดของฟาโรห์ดโจเซอร์ ซึ่งอิมโฮเทปได้ดัดแปลงถึง 4 ครั้งกว่าจะมาเป็นพีรามิดขั้นบันได 6 ขั้นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
มาสตาบา
เริ่มแรกพีรามิดของฟาโรห์ดโจเซอร์เป็นเพียงมาสตาบาธรรมดาๆ แต่อิมโฮเทปก็มีความคิดที่จะขยายด้านข้างออกไปและต่อเติมชั้นบนโดยวางมาสตาบาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆจนถึง4ขั้น แต่ว่าอิมโฮเทปก็ยังไม่พอใจ เขาขยายด้านข้างออกไปอีก และเสริมความสูงของพีรามิดนี้เข้าไปอีก 2 ขั้น จนกลายเป็น 6 ขั้นในที่สุด บันได 6 ขั้นนี้เชื่อว่าอิมโฮเทปมีจุดประสงค์เพื่อให้ฟาโรห์ดโจเซอร์ใช้เป็นทางเสด็จสู่สรวงสวรรค์ในรุ่งอรุณเพื่อไปกับเทพเ้จ้ารา
พีรามิดของฟาโรห์ดโจเซอร์ พิระมิดขั้นบันได
ด้านใต้ขององค์พีรามิดเองก็ยังเต็มไปด้วยปล่องมากมายถึง 11 ปล่อง รวมทั้งอุโมงค์ทางเดินอันสลับซับซ้อนอีกมากมาย บริเวณพีรามิดของฟาโรห์ดโจเซอร์ก็ไม่ได้มีแต่องค์พีรามิดเพียงอย่างเดียว รอบๆ องค์พีรามิดยังรายล้อมไปด้วยวิหาร แท่นบูชา ปะรำพิธี เฉลียงทางเดิน ห้องเก็บของและห้องโถง ซึ่งสอดรับและเอื้อประโยชน์หน้าที่ซึ่งกันและกันอย่างลงตัว
เศษรูปปั้นจากเมืองซักคาร่า ชิ้นหนึ่งชี้หลักฐานว่าอิมโฮเทปได้รับสิทธิพิเศษในการจารึกชื่อของตัวเองเอาไว้เคียงข้างฟาโรห์ดโจเซอร์ ซึ่งแสดงว่าอิมโฮเทปมีความสำคัญทางด้านจิตใจต่อชาวเมืองเป็นอย่างมาก เมื่อมาถึงช่วงยุคปลายประมาณปี 600 BC รูปปั้นของอิมโฮเทปไม่ว่าจะทำจากทองสัมฤทธิ์หรือแม้กระทั่งรูปปั้นเล็กๆ รวมทั้งเครื่องรางของอิมโฮเทปล้วนแล้วแต่ออกมาให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งรูปปั้นส่วนมากของอิมโฮเทปที่เราคุ้นเคยและเห็นบ่อยก็คือรูปของชายที่นั่งบนเก้าอี้ ศรีษะโล้นไม่มีผม และถือม้วนกระดาษปาปิรุสอยู่บนตัก
Inscription with the names of Djoser and Imhotep
การบูชาอิมโฮเทปในฐานะเทพเจ้าขึ้นถึงสูงสุดในยุคปลายและยุคกรีก-โรมัน มีแท่นบูชามากมายสร้างเพื่อุทิศให้แด่อิมโฮเทปที่เมืองซักคาร่า เกาะฟิเล และเมืองธีปส์ บริเวณวิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์หญิงฮัตเซปซุต ที่เดียร์เอล-บาหรีย์ และวิหารแห่งเทพีฮาเทอร์ที่เดียร์ เอล-เมดินา
มีผู้มาแสวงบุญในยุคหลังๆมากมายที่ต้องการให้อิมโฮเทปในฐานะเทพเจ้าช่วยรักษาโรคให้ พวกเขาจะนำอวัยวะจำลองเช่นพวกแขนขา หรืออวัยวะที่พวกเขารู้สึกเจ็บป่วยมาวางไว้ และหวังว่าอิมโฮเทปและเทพเจ้าทั้งหลายจะช่วยรักษาให้หายได้
ตอนนี้เรายังไม่ทราบว่าสุสานของอิมโอเทปอยู่ที่ใด นักอียิปต์วิทยากำลังทำการค้นคว้ากันอยู่ ซึ่งบริเวณที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือเมืองซักคาร่า ที่อิมโฮเทปสร้างพีรามิดของฟาโรดโจเซอร์เอาไว้ โดยคาดกันว่าสุสานของอิมโฮเทปอาจจะเป็นมาสตาบาที่พบในเมืองซักคาร่า รหัส 3518 ก็เป็นได้ แต่ที่น่าเสียดายก็คือมาสตาบาแห่งนี้ไม่มีการจารึกข้อความใดๆเอาไว้เลย ทำให้ไม่มีหลัหฐานในการยืนยันว่ามาสตาบาแห่งนี้เป็นของอิมโฮเทปจริงๆ
ส่วนรายละเอียดของพีระมิดของฟาโรห์ดโจเซอร์ แห่งเมืองซัคคาร่าจะนำมาลงให้เพือนๆ ได้อ่านกันในคราวหน้า แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
ที่มา: http://www.ipoaa.com/imhotep_true_father_medicine.htm, https://sites.google.com/site/453046/453046, th.wikipedia.org
ขอบคุณภาพประกอบ http://dekguide.com/travel/imhotep-museum/, http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=egypt&month=09-09-2011&group=3&gblog=1, http://www.touregypt.net/featurestories/imhotep.htm, http://www.ipoaa.com/imhotep_true_father_medicine.htm