การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
หลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า เมื่อประมาณ ๔๔๐ ล้านปีมาแล้วได้มีเหตุการณ์ทำลายล้างเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตอย่างขนานใหญ่ เพราะโลกต้องประสบภาวะเย็นจัดในยุคน้ำแข็ง โดยในยุคนั้นส่วนที่เป็นทะเลทราย Sahara ยังอยู่ที่บริเวณขั้วโลกใต้ และเมื่อขั้วโลกใต้มีพื้นที่มากมันก็สามารถรองรับน้ำแข็งได้มาก น้ำแข็งที่มีปริมาณมากนี้ได้ทำให้กระแสน้ำในมหาสุมทรและกระแสลมในอากาศทั่วโลกมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก และเมื่อน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำแข็งมากขึ้น ๆ ระดับน้ำในทะเลก็ลด มีผลทำให้พื้นที่ตามบริเวณริมฝั่งถูกทำลาย และร้อยละ ๘๕ ของสิ่งมีชีวิตขณะนั้นต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด
มนุษย์ได้บริโภคผลผลิตสุทธิทั้งหมดของการสังเคราะห์แสงบนพื้นโลกไปประมาณร้อยละ 40 ทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยของมนุษย์ทำให้โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพอาจจะผลักดันให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้เนื่องจากความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์ยุคใหม่โดยเฉพาะยุคแห่งเทคโนโลยี ในประวัติศาสตร์ 1,500 ล้านปีของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ กรณีการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ศึกษาได้จากฟอสซิลนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์โดยมีลำดับดังนี้ (ให้ดูภาพวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย)
ครั้งที่ 1 การสูญพันธุ์ครั้งแรกเกิดขึ้นในกือบจะช่วงปลายยุคแคมเบรียน (Cambrian) ประมาณ 505 ล้านปีมาแล้ว
ครั้งที่ 2 การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่เกิดในปลายยุค ออร์โดวิเชียน (Ordovician) เมื่อประมาณ 438 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ทั้งหมดอาศัยอยู่ในทะเล
ครั้งที่ 3 การสูญพันธุ์ครั้งสำคัญเช่นกันเกิดขึ้นเมื่อปลายยุคดีโวเนียน (Devonian) ประมาณ 360 ล้านปีที่ผ่านมา
ครั้งที่ 4 การสูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรกที่สุดในบรรดากรณีสูญพันธุ์ครั้งสำคัญๆ ทั้งหมดที่สำรวจได้เกิดขึ้นในช่วง 10 ล้านปีสุดท้ายของยุคเปอร์เมียน (Permian) ประมาณ 248-238 ล้านปีมาแล้ว นักบรรพชีวินวิทยาประมาณว่าร้อยละ 96 ของชนิดสิ่งมีชีวิตในทะเลสูญพันธุ์ไปในช่วงนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตบนโลกอย่างถาวร
ครั้งที่ 5 ประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงท้ายของยุคครีเตเชียส(Cretaceous) การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นอีก เหตุการณ์นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยขนาดมหึมาซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatan) อ่าวเม๊กซิโก เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลจำนวนมาก และทำลายชนิดของสิ่งมีชีวิตบนบกไป 2 ใน 3 ส่วน สัตว์จำพวกไดโนเสาร์สิ้นสุดไปในยุคนี้เช่นกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่เหลืออยู่นั้นไม่มีชนิดใดที่ขนาดใหญ่กว่าแมวบ้านและกลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลักบนบกในเวลาต่อมาขณะเดียวกันสัตว์จำพวกนก สัตว์เลื้อยคลานยุคใหญ่ พืช และแมลง เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากมาย
จาก 65 ล้านปีในอดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ รา จุลินทรีย์ บนโลกได้เพิ่มจำนวนชนิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และมีชุมชนของสิ่งมีชีวิตบนบกที่ซับซ้อนมากขึ้น ในช่วงเวลาของมนุษย์จีนัส โฮโม น่าจะมีชนิดของสิ่งมีชีวิตประมาณ 10 ล้านชนิด เป็นชนิดของสิ่งมีชีวิตในทะเลประมาณร้อยละ 15 ที่เหลือเป้นสิ่งมีชีวิตบนบกและในน้ำจืด ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีชนิดของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้อีกเลย
เมื่อบรรพบุรุษของเราพัฒนาการเกษตรขึ้นมาเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา มีประชากรมนุษย์หลายล้านคนในช่วงเริ่มคริสตกาล จำนวนประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอีก และเมื่อค.ศ. 1950 มีประชากร 2.5 พันล้านคน ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์
การสูญเสียทางชีวภาพ คือ การสูญหายไปอย่างถาวรของชนิดของสิ่งมีชีวิต เป็นลักษณะเด่นของชีวิตบนดาวดวงนี้มาตลอด ประมาณ 10 ล้านชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงส่วนประกอบน้อยนิดประมาณร้อยละ 1 ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ จำนวนมากมายหลายร้อยล้านชนิดที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกอดีตกาล โดยเฉพาะในช่วงเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายมากจนถือว่าเป็นยุคทองของสิ่งมีชีวิตก็ได้ อย่างไรก็ตามการสูญพันธุ์แบบตลอดกาลหรือการสูญพันธุ์แบบชั่วคราวที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้เป็นการเผชิญหน้ากับอัตราการสูญพันธุ์ที่มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต เป็นเพราะเหตุใด
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อัตราการบริโภคต่อคนเพิ่มขึ้นรวมทั้งการใช้เทคโนโลยี ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่า 1 ใน 5 ของจำนวนพลโลกทั้งหมด 6 พันกว่าล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศในยุโรป พวกเขาเหล่านี้ได้ใช้ผลิตผลของโลกไปประมาณ 4 ใน 5 ของทั้งหมดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ได้มีส่วนในสำคัญต่อความยั่งยืนของชีวาลัย ทำให้เกิดการไม่สมดุลกัน ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากค.ศ. 1950 มี 2.5 พันล้านคน จนขณะนี้มีประมาณ 6 พันกว่าล้านคน 1 ใน 5 ของดินชั้นบนถูกปล่อยให้รกร้างจนไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตรบนโลกเคยเป็นดินชุ่มน้ำ กลายเป็นดินเค็ม หรือทะเลทราย ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น 1 ใน 5 โอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์หายไปร้อยละ 6 ถึง 8 และประมาณ 1 ใน 3 ของป่าไม้ทั้งโลกถูกตัดโดยไม่มีการปลูกทดแทน
ธรรมชาติย่อมมีสมดุลเสมอ การเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจึงถูกกำจัดโดยธรรมชาติ เช่น การสูญพันธุ์ ตามธรรมชาติส่งมีชีวิตอาจมีการสูญพันธุ์ได้ตลอดเวลาที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง อัตราการสูญพันธุ์จะมีน้อยกว่าอัตราการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การสูญพันธุ์ในอดีต เกิดจากกระบวนการธรรมชาติบางอย่าง เช่น ภัยธรรมชาติ ผู้ล่า โรคภัยไข้เจ็บ ความแออัด การแก่งแย่ง แต่ในปัจจุบันสาเหตุที่สำคัญเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ คือ หนึ่ง การสูญเสียที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจากการตัดต้นไม้ทำลายป่า สอง สภาวะดินหมดสภาพ ความแห้งแล้ง สาม เทคโนโลยีการสร้างเขื่อนทำให้สูญเสียพืช และสัตว์เป็นจำนวนมาก สี่ การล่าจากมนุษย์และการถูกคุกคามจากสิ่งมีชีวิตจากต่างแดนที่ขยายพันธุ์มากจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น ในระบบนิเวศที่สมดุลการสูญเสียสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งอาจมีผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อย่างต่อเองเป็นลูกโซ่มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี นักชีววิทยาได้ประมาณการณ์ว่าการสูญพันธุ์ของพืชชนิดหนึ่งสามารถส่งผลกระทบให้มีการสูญเสียแมลงและสัตว์อื่นในระบบนิเวศเดียวกันได้หลายชนิด อาจถึง 30 ชนิดก็ได้ แต่ผลอาจจะไม่ปรากฎชัดในทันทีทันใดกว่าจะปรากฎชัด บางทีก็สายไปแล้วเกินกำลังที่จะแก้ไข
จากการรวบรวมข้อมูลจาก World Cinservation Union (WCN) ได้ทำการรวบรวมรายชื่อของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูกคุกคาม และอยู่ในสถานะที่ล่อแหลมอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์อยู่ในบัญชีรายชื่อที่เรียกว่า บัญชีแดง "Red List" จากข้อมูลล่าสุดจำนวนสัตว์ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายต่อการสูญพันธุ์ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 5,435 ชนิดในปัจจุบัน
เราลองมาประเมินอัตราการสูญพันธุ์ดู อดีต อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1 ชนิด (สปีชี) นั่นหมายถึงว่า ไม่ใช่ว่าในธรรมชาติจะไม่สูญพันธุ์เลย ปัจจุบัน อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามสภาพการเปลี่ยนเเปลงของสิ่งแวดล้อมยุคใหม่เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วหลายพันเท่าของในอดีต การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในพวกที่อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อนประเมินอัตราสูญพันธุ์ประมาณวันละ 1 ชนิดในช่วงปี ค.ศ. 1970 และเพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1 ชนิด ในช่วงปีค.ศ. 1980 หรืออีก 10 ปีถัดมา คือ เพิ่มเป็น 24 เท่าในช่วงระยะเพียง 10 ปีเท่านั้นเอง ทั้งนี้มีการทำลายป่าไม้ในเขตร้อนอย่างมากมายในช่วง 20 ปีกว่าที่ผ่านมา จะเป็นเพราะการยังชีพในการทำเกษตร หรือเพื่อธุรกิจ หรือวิถีการดำรงชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นก็ตาม หากการสูญพันธุ์ยังอยู่ในอัตรานี้เชื่อว่าภายในสิ้นศตวรรษที่ 20 จะมีการสูญพันธุ์ไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-50
ที่มา: http://www.rmutphysics.com/charud/specialnews/6/earth/index26.htm