หลายยุคหลายสมัย..ที่หนังไทยหลายเรื่องโดนแบน (ตอนที่ 1 )
เก็บความจากงานภาพยนตร์สนทนา “อุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ฯ เมื่อ 23 มิ.ย. 55 ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์ และ ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ
หนังไทยประกาศตัวเป็น “หนังการเมือง” ชัดๆ ไม่ค่อยได้ ต้องแอบๆ ซ่อนๆ
ศาสวัตกล่าวว่า ได้ลองไล่สำรวจหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างจริงจังร่วมกับเพื่อนๆ นักวิจารณ์หนัง แล้วพบว่าหาได้ยากมาก ช่วงหลังรัฐประหารปี 49 ก็มีหนังหลายเรื่องที่แฝงกลิ่นการเมือง แต่การเป็นหนังการเมืองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับพบความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยปรากฏอยู่ในหนังมากกว่า
ชญานินวิเคราะห์หนังการเมืองไทยว่า หนังไทยจะแสดงตัวว่าเป็น “หนังการเมือง” ชัดๆไม่ค่อยได้ ต้องปกปิดแอบซ่อน ส่วนหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองชัดเจน เท่าที่พบนั้นอาจแยกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือหนังยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยก่อนที่รัฐให้การสนับสนุน เช่น เรื่อง "หนักแผ่นดิน" เมื่อ พ.ศ.2520 กำกับและแสดงนำโดย สมบัติ เมทะนี ส่วนกลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มที่แสดงอุดมการณ์การเมืองชัด แต่ไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นหนังการเมือง คือหนังแนวประวัติศาสตร์รบรา และหนังเชิดชูสถาบันกษัตริย์
นอกเหนือไปจากนี้ หากหนังแสดงเนื้อหาทางการเมืองชัดเจน ก็มักถูกมองว่าเป็นภัย อย่างเรื่อง Shakespeare Must Die กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (อิ๋ง เค) ซึ่งถูกแบน เพราะฉะนั้นหนังการเมืองไทยต้องซ่อนตัวเอง จนต้องเป็นผู้ชมที่ติดตามการเมืองและดูหนังมามากประมาณหนึ่งจึงจะเข้าใจ
ถ้าเป็นหนังการเมืองที่ไม่ซ่อนตัวเอง เนื้อหาก็จะไม่ได้ลงลึกถึงระดับอุดมการณ์ หรือวิพากษ์วิจารณ์ระบบ แต่เนื้อหาจะติดอยู่แค่ว่านักการเมืองเลว สกปรก คอร์รัปชัน ขี้โกง มั่วเซ็กส์ ธุรกิจสกปรก ฯลฯ นี่คือจุดที่ไกลที่สุดที่ประเทศนี้จะรับกับคำว่า “หนังการเมือง” ได้ ภายใต้เงื่อนไขนี้ ผู้สร้างหนังอาจจะซ่อนนัยอะไรในหนังหรือไม่ก็แล้วแต่
สำหรับหนังสั้น ชญานินกล่าวว่าพอจะมีหนังสั้นที่พูดถึงการเมืองบ้าง ด้วยธรรมชาติของหนังสั้นในปัจจุบันที่สามารถทำได้รวดเร็วและง่าย แต่ที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองอย่างจริงจังและลึกก็หาได้ยากเช่นกัน เพราะเรื่องเหล่านี้หากจะพูดให้ลึกในเวลาเพียงน้อยนิดก็จะไม่รู้เรื่อง หนังสั้นจะพูดถึงการเมืองได้ชัดมากกว่าอยู่แล้วเพราะไม่มีเซ็นเซอร์ แต่ในความชัดนั้นก็มักเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ ประเด็น หรือกระแสข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าที่จะเจาะลงไปถึงเรื่องอุดมการณ์ หรือแกนความคิดหลักที่ควบคุมเรื่องนั้นอยู่
ศาสวัตเสริมว่า ในกลุ่มหนังสั้น นึกถึงหนังสั้นการเมืองที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี 2 เรื่อง คือ เรื่องหนึ่งที่ชื่อ “I'm fine สบายดีค่ะ” ของ กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนังบอกว่าความจริงคนไทยเราอยู่ในกรงขัง ไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ แต่คนก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา และอีกเรื่องหนึ่งคือ สารคดีสั้นเรื่อง “คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์” ของ เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กล่าวถึงช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 สินค้าในห้างคาร์ฟูร์หมดเกลี้ยง แต่หนังไม่ได้ตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ความคิดอะไร เป็นปฏิกิริยาต่อเรื่องการเคอร์ฟิวโดยหยิบความรู้สึกในช่วงเวลานั้นมาเล่ามากกว่า
ภาพยนตร์สั้น “I'm fine สบายดีค่ะ” โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
สารคดีสั้น “คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์” โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
มองหนังการเมืองของต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงตัวอย่างหนังต่างประเทศที่สามารถตีโจทย์เรื่องการเมืองได้แตก ชญานินยกตัวอย่างหนังเรื่อง Secret Ballot (2001) ของประเทศอิหร่าน ซึ่งพูดถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฉากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ของอิหร่านติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแหล่งเข้าออกของพวกขนของหนีภาษี ประชาชนแถบนั้นอยู่อย่างยากจนกลางทะเลทราย วันหนึ่งมีเฮลิคอปเตอร์พา กกต. สาวที่ถือหีบเลือกตั้งมาเพื่อเก็บคะแนนเสียงเลือกตั้งที่นี่ ด้วยความที่ผู้คนอยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญมาก หลายคนจึงไม่สนใจจะเลือกตั้งเพราะรู้สึกว่าเลือกประธานาธิบดีคนไหนก็เหมือนกัน กกต. สาวมีหน้าที่ถือหีบเลือกตั้งไปตามบ้าน ตามชุมชน ให้คนลงคะแนนเสียง โดยมีทหารลาดตระเวนติดตามไปด้วย เจอผู้คนหลากหลาย เช่น ผู้คนในชุมชนหนึ่งที่ปกครองกันเอง 4-5 ครอบครัว มองว่าเลือกตั้งประธานาธิบดีไปก็เท่านั้น บ้างก็เจอหัวคะแนนพาคนมาเลือกตั้ง บ้างก็เจอคนอ่านหนังสือไม่ออก
ชญานินกล่าวว่า คนอาจมองว่าหนังเรื่องนี้ว่าเสียดสีความเละเทะของการเลือกตั้ง แต่ส่วนตัวมองว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนจะสนใจเลือกตั้งหรือไม่ แม้จะอ่านหนังสือไม่ได้ ตาบอด หูหนวก แก่ชรา อย่างน้อยทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกประธานาธิบดีของตัวเอง คนอาจมองว่าเลือกประธานาธิบดีแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ กกต. สาวที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบเลือกตั้งก็พยายามจะรักษาสิทธิของประชาชนไม่ว่าประชาชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ภาพจากภาพยนตร์อิหร่าน เรื่อง Secret Ballot (2001)
ส่วนหนังการเมืองต่างประเทศที่ศาสวัตยกตัวอย่างคือเรื่อง Lions for Lambs (2007) โดยกล่าวว่าหนังเรื่องนี้เหมือนจะถกเถียงกับคุณค่าบางอย่างที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ผ่านตัวละคร 3 คู่ คู่แรกเป็นวุฒิสมาชิกไฟแรง (Tom Cruise) กับนักข่าวอาวุโส (Meryl Streep) เถียงกันเรื่องมุมมองต่อการโจมตีตาลีบันครั้งใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเรียกคะแนนเสียง คู่ที่ 2 คืออาจารย์รัฐศาสตร์ผู้เคยผ่านสงครามเวียดนาม เถียงกับนักศึกษาเรื่องประโยชน์ของวิชารัฐศาสตร์ นักศึกษาคนนี้ไม่ยอมเข้าเรียนเพราะมองว่ารัฐศาสตร์ในห้องเรียนกับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน คู่ที่ 3 คือนักศึกษาผิวสีกับนักศึกษาลูกครึ่งเม็กซิกันที่เป็นเพื่อนกัน และออกจากมหาวิทยาลัยไปเป็นทหารที่อิรัก หนังทิ้งปมให้คนดูไปตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามต่อความจริงที่เราเคยเชื่อ บางครั้งประชาธิปไตยก็มีช่องโหว่ให้ถกเถียงได้
ภาพจากภาพยนตร์ Lions for Lambs (2007)
โพสแบบนี้จะผิดมาตรา 37 ป่ะเนี๊ยยยย!!
ที่มา: http://prachatai.com