ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละคร "เหนือเมฆ2"
ท่ามกลางกระแสอันร้อนแรงของของการถอดละครดัง "เหนือเมฆ2" ว่ากันด้วยมีบางส่วนพาดพิงการทำงานของรัฐบาล จนเกิดกระแสลุกลามมากกว่าจากปลดละคร แต่สะท้อนว่าสื่อสาธารณะกำลังถูกแทรกแซง!!
หลายคนที่ประทับใจที่ตัว "แสงกล้า" ผู้หมวดหนุ่มที่มุ่งมั่นทำงานด้วยความถูกต้อง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า คนที่ทำตัว "ห้าว" แบบแสงกล้านั่นมีอยู่ในโลกความจริง แต่ก็โดนเล่นงาน ถูกถอดครั้งแล้วครั้งเล่าจริงๆด้วยเช่นกัน
ในโลกแห่งความจริงแม้ว่าภาพลักษณ์ตำรวจไทยจะสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเอ่ยถึงตำรวจที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ปราบปรามทุจริต หรือประเภท “ตงฉิน” จะต้องมีชื่อของ “พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” เสมอ
ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในกระแส เพราะได้เสนอตัวเป็นไม้ซี่งัดไม้ซุง ด้วยการลงสมัครเลือกครั้งผู้ว่าฯกทม. แข่งกับผู้แข่งขันจากพรรคใหญ่
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เริ่มต้นมีชื่อเสียงในช่วงปี 2520 จากความกล้าหาญในการขอย้ายตัวเองจากเขตเมืองไปยังเขตสีแดงที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชุกชุมในยุคนั้นคืออำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้กับนิตยสาร “สารอโศก” ว่า “เราคนเดียว เป็นโสดไม่มีครอบครัว อยู่ในเมืองอย่างสบาย ก็ย้ายตัวเองออกไปเพื่อทำงานตรงนั้น อย่างน้อยก็ได้ไปแทนคนที่มีภาระครอบครัวหนึ่ง เขาจะได้กลับไปดูแล ครอบครัวของเขา ผมแต่งงานตอนเป็นผู้กำกับจังหวัด พ.ศ. 2527 อายุ 36 ปีแล้ว ถ้าแต่งงานก่อนหน้านั้น คงบู๊ไม่ได้ถึงขนาดนี้”
"เกือบถูกปลดก็หลายครั้ง"
"ผมผ่านมาเยอะ ปราบคอมมิวนิสต์มา 100 กว่าครั้ง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ยิงกันหูดับไฟแลบ ก็สามารถผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ตลอด ช่วงหลังโตขึ้นด้วยยึดหลักความถูกต้อง บางทีก็ต้องเผชิญกับปัญหา ยิ่งสูงยิ่งหนาว ถ้าเราเป็นนายตำรวจใหม่ๆ ปัญหาก็อยู่ในระดับต่ำๆ ไม่ค่อยมีอิทธิพล อิทธิฤทธิ์เท่าไหร่ แต่ยิ่งอยู่สูง ก็ต้องต่อสู้กับผู้ที่เหนือกว่า หรือคนมีอำนาจ มีอิทธิพล เกือบจะถูกปลดตั้งหลายครั้ง ความที่เราไม่ยอมเขานั่นเอง”
"ถูกกลั่นแกล้งแกล้งเพราะขัดผลประโยชน์"
“หลายครั้งที่ต้องขัดผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพล และคนไม่อยากเห็นเราเด่นเกิน ผมเคยแป้กหลายครั้ง โดนตั้งคณะกรรมการกลั่นแกล้ง เราก็ฟ้องกลับ เคยถูกอธิบดีเล่นงานเราก็ฟ้องกลับ สู้กันจนกว่าอธิบดีถูกปลดไป”
"โลโก้- วีรบุรุษสีกากี, มือปราบตงฉิน"
ในความรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านทางสื่อ เสรีพิศุทธ์เป็นสัญลักษณ์เสมือนการการันตีว่าการสอบสวนทุจริตเหล่านี้จะเป็นไปอย่างเที่ยงตรง จากคดีทุจริตของกำนันเป๊าะ บ่อนปอประตูน้ำ ฯลฯ ล่าสุดคือบ่อนลอยฟ้าปิ่นเกล้าที่มีตำรวจอยู่เบื้องหลัง และยังมีคดีที่อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน เช่น ทุจริตลำไย ทุจริตทางด่วนบูรพาวิถี ไปจนถึงตรวจสอบศพที่ปัตตานี
"ถูกย้ายก็หลายครั้ง"
เส้นทางอาชีพตำรวจของเสรีพิศุทธ์ไม่ใช่จะราบรื่นเหมือนชื่อเสียงในทางดี ย้อนไปในอดีตหลายครั้งที่เสรีพิศุทธ์พบกับมรสุมการถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถจับกุมใครได้ เช่นที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือบางครั้งที่ประจำกรมตำรวจ (ในยุคนั้น) ซึ่งเขาเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อยากคิดอยากทำอะไรก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อมันเป็นหน้าที่ เขามอบให้เราทำ ก็ต้องทำ ทำตามระบบ จะไปเกินกรอบไม่ได้ ประชาชนไม่เข้าใจคิดว่า ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชาชนเดือดร้อน คงจะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่เขาให้เราทำอยู่แค่นี้ ขณะนี้ผมดูแลรับผิดชอบเรื่องการเงินกับการศึกษา”
"ถูกดึงกลับมาเพราะรัฐาลต้องการภาพลักษณ์ที่ดี"
แต่ในที่สุดแล้วเราจะเห็นเขากลับมามีบทบาทเดิมได้เสมอราวกับแมวเก้าชีวิต เพราะหลายรัฐบาลมักเลือกเสรีพิศุทธ์ให้เข้ามาจับคดีอื้อฉาวที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัยเรื่อยมา เพราะจะช่วยส่งผลบวกต่อรัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาของตำรวจด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
ท่ามกลางกระแสชาวเมืองหลวงที่กำลังเบื่อเกมส?การเมืองระหว่างขั้ว 2 สี อาจเป็นได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อาจเป็นผู้ชนะเพื่อเป็นการส่งสัญญาณการไม่เอาเกมส์การเมืองอีกต่อไป
หรือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะแพ้ขั้วอำนาจจากพรรคใหญ่ ดังเช่นในละคร? "คงต้องให้ชาวเมืองหลวงเป็นผู้ตัดสิน!!"