กษัตริย์ฮัมมูราบี กับกฏหมาย "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน"
กษัตริย์ฮัมมูราบี แห่งจักรวรรดิบาบิโลน ฮัมมูราบี (Hammurabi; ประมาณ 1810 -1750 ปีก่อนคริสตกาลหรือประมาณ 1267-1207 ปีก่อนพุทธกาล) กษัตริย์ชาวอามอไรท์องค์ที่ 6 และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งจักรวรรดิบาบิโลน รู้จักกันดีที่สุดในด้านกฎหมายในขณะเดียวกับความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้านการทหารที่ทำให้อาณาจักรบาบิโลนมีอำนาจมากที่สุดในแถบเมโสโปเตเมียโดยการเอาชนะพวกซูเมอร์และพวกอัคคาด ฮัมมูราบีปกครองจักรวรรดิบาบิโลนตั้งแต่ปี 1792 ก่อนคริสตกาล ในช่วงต้นของการครองราชย์บ้านเมืองค่อนข้างมีความสงบสุข ทรงทำลายและขับไล่กองทัพผู้รุกรานได้แก่ พวกอีลาไมท์และกองทัพอื่น ๆ ออกไปจากอาณาจักรได้อย่างเด็ดขาด และำด้ทรงผนวกอาณาจักรลาร์ซาและอาณาจักรยามัตบาล ไว้ในอำนาจเป็นราชอาณาจักรเดียวโดยมีบาบิโลนเป็นศูนย์กลาง ความเฟื่องฟูด้านอักษรศาสตร์ที่รุ่งเรืองตามความเจริญของอาณาจักรบาบิโลนทำให้กฎหมายต่าง ๆ ของกษัตริย์ได้รับการยอมรับไปตลอดชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน มีการค้นพบแผ่นจารึกดินเผาที่เป็นสนธิสัญญาจำนวนมากที่สอบอายุได้ว่าตรงกับสมัยของพระองค์และกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมา รวมทั้งจดหมายที่มีการลงนามด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นมีหนังสือคำสั่งให้เคลื่อนทหารจำนวน 240 นายจากอัสซีเรียและไซทัลลัม ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกอัสซีเรียเคยตกอยู่ใต้การปกครองของบาบิโลน
ฮัมมูราบีแผ่อำนาจการปกครองของจักรวรรดิบาบิโลนครั้งแรกไปทางใต้ก่อนแล้วจึงขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเมโสโปเตเมีย ชัยชนะอย่างเด็ดขาดทางการทหารเกิดขึ้นค่อนข้างล่าช้าในรัชสมัยของพระองค์ และที่สำเร็จลงได้อาจเป็นเพราะการล่มสลายของอาณาจักรแชมชิ - เอดัด |
รูปสลักหินไดโอไรท์ที่เชื่อว่าเป็นกษัตริย์ฮัมมูราบี
|
ประมวลกฎหมายฮัมบูราบี เป็นบทบัญญัติที่รวบรวมกฎหมายต่าง ๆ และพระราชกฤษฎีกาของกษัตริย์ฮัมมูราบี ราชาแห่งบาบิโลเนีย และเป็นประมวลกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุด ประมวลกฎหมายนี้ถูกคัดลอกไว้โดยการแกะสลักลงบนหินบะซอลต์สีดำสูง 2.25 เมตร ซึ่งต่อมาทีมนักโบราณคดีฝรั่งเศสขุดพบที่ Sūsa ประเทศอิรัก ในช่วงฤดูหนาวปี 1901 ถึง 1902 หินสลักนี้แตกเป็น 3 ชิ้น และได้รับการบูรณะ ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แผ่นจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี
กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายอาญา โดยยึดหลักที่ปัจจุบันเรียกว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" อันหมายถึงทำผิดอย่างไรได้โทษอย่างนั้น ซึ่งแม้บทลงโทษตามกฎหมายฮัมมูราบีจะดูว่าโหดเหี้ยมตามความคิดของคนสมัยใหม่ แต่การทำกฎหมายให้เป็นลายลักษณ์อักษรและพยายามใช้บังคับอย่างเป็นระบบกับทุกคน และการ “ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิด” นับเป็นหลักการสำคัญที่นับเป็นวิวัฒนาการทางอารยธรรมของมนุษย์
ทฤษฎีใหม่บางอันถือว่าการนับกฎหมายฮัมมูราบีให้สถานะอย่างประมวลกฎหมายอย่างปัจจุบันนั้นไม่ถูกต้องนัก ความจริงน่าจะนับได้เพียงการเป็นอนุสรณ์ยกย่องว่ากษัตริย์ฮัมมูราบีเป็น “ตัวอย่างกษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม” ได้เท่านั้นเพราะในชีวิตของคนย่อมมีความผิดอย่างอื่นที่ไม่ใช่การลักขโมย
นอกจากกฎหมายแล้ว ฮัมมูราบียังได้ทรงทำให้บาบิโลนเป็นสถานที่สวยงามขึ้นโดยการปรับปรุงระบบชลประทาน ต่อมาในภายหลังจักรวรรดิบาบิโลนล่มสลายลงโดยผู้ปกครองที่สืบต่ออำนาจจากกษัตริย์ฮัมมูราบีได้รับแรงกดดันทางอำนาจจากพวกฮิตไตท์ที่นำโดยกษัตริย์มิวซิลิสที่ 1 แต่โดยความเป็นจริงบาบิโลนถูกครอบครองโดยพวกแคสไซต์ที่นำโดยกษัตริย์อคุมคัครีน ซึ่งได้ปกครองบาบิโลนต่อมาอีก 400 ปีโดยที่ยังยอมรับและใช้ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีสืบต่อมา
ลักษณะเด่นของประมวลกฎหมายฮัมบูราบี
- คล้ายกฎหมายของพวกสุเมเรียน คือ อาศัยหลัก Lex talionis คือ ใช้ลัทธิสนองตอบ คือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” (An eye for an eye , a tooth for a tooth)
- มีความเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายของพวกสุเมเรียน คือ การให้ความยุติธรรมนั้นต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ (การให้ความยุติธรรมในสมัยแรกเริ่มนั้นเป็นหน้าที่ของบุคคล)
- ให้สิทธิแก่สตรี สตรีมีสิทธิฟ้องสามีได้
- การค้าขายจะต้องได้พระบรมราชานุญาต จำกัดกำไรให้เพียง 20%
- กำหนดเวลาการตกเป็นทาสหนี้สินเพียง 3 ปี
ทั้งนี้เป็นเพราะนอกจากจะทรงสามารถในการรบและการปกครองเป็นผลให้ จักรวรรดิขยายกว้างใหญ่ไพศาล ฮัมมูราบีปรับปรุงอารยธรรมสุเมเรียนให้ดีขึ้น และในที่สุดจักรวรรดิ บาบิโลนก็ได้เริ่มเสื่อมลงเป็นลำดับภายหลังการสิ้นพระชนม์ของฮัมมูราบีเพราะ
1.กษัตริย์ผู้สืบทอดต่อมาไร้ความสามารถในการปกครองและการรบ เป็นผลให้กลุ่มชนภายใต้ การปกครองของอะมอไรท์ดำเนินการแยกตนเป็นอิสระ
2.ประมาณปี 1590 ก่อนคริสตกาล ฮิตไตท์ชนชาตินักรบจากเอเซียไมเนอร์ เข้ารุกรานมุ่งยึด กรุงบาบิโลนแต่ไม่สำเร็จ
3. การก่อกวนของเฮอเรีย (Hurrians) แห่งอาณาจักรมิทานมิ (Mitanni) อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส
4. งบประมาณปลายศตวรรษที่ 16 ก่อนคริตกาล คัสไซส์ (Kassites) อนารยชนจากเทือกเขา ใกล้ดินแดนเปอร์เซียตะวันตกเข้ารุกรานและโค่นอำนาจอะมอไรท์ได้สำเร็จ
อารยธรรมแห่งเมโสโปเตเีมีย อารยธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต เป็นต้นกำเนิดแห่งการวิวัฒนาการในหลายๆ ด้านของโลก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม การชลประทาน กฎหมาย อักษรที่ใช้ และอื่นๆ อีกมากมาย ให้เราชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ไปอีกแสนนาน แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ที่มา: th.wikipedia.grg, http://www.thaigoodview.com/