หมดสวยเพราะ “คีลอยด์” (แผลเป็นหนานูน)
ทุกครั้งที่ส่องกระจกแล้วเห็นแผลเป็นขนาดใหญ่อยู่บริเวณที่ไม่ควรจะอยู่ มันน่าเจ็บใจมาก เพราะมันทำให้ผิวสาว สวย มันแลดูมีตำหนิ อีกอย่าง แผลเป็นแบบนี้มันทั้งเจ็บและคันเอาเรื่องด้วย
คีลอยด์ (Keloid) ต่างจากแผลเป็นธรรมดาตรงที่เมื่อบาดแผลหายแล้ว แผลเป็นจะเติบโตขยายออกจากแนวขอบแผลเดิม เนื่องจากมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติของ Fibrous tissue ทำให้ผิวหนังมีการสร้างเนื้อเยื่อซ่อมแซมมากเกินไป และขยายตัวกว้างขึ้นมากกว่ารอยแผลที่เป็นอยู่ ผิวหนังจึงนูนหนาขึ้นมา แผลคีลอยด์มักพบบริเวณผิวหนังที่ตึงตัว เช่น ใบหู ต้นแขน หน้าอก หลัง หน้าท้อง ขา เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดคีลอยด์นั้น อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ตำแหน่งที่เป็นแผล และชนิดของแผล ซึ่งอาจเกิดจากแผลหลังการผ่าตัด การปลูกฝี การเจาะหู สิวอักเสบ จากแมงกระพรุนไฟ ไฟไหม้ การสัก หรือแผลจากอุบัติเหตุต่างๆ และหากแผลนั้นได้รับการรบกวนมากๆ โอกาสเกิดคีลอยด์ก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย
การรักษาโดยวิธีผสมผสานมักให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้คีลอยด์มีขนาดเล็กลงจนแบนราบ มีสีจางลง มีอาการเจ็บหรือคันน้อยลง
1. วิธีที่นิยมมากที่สุดคือ การฉีดยาสเตียรอยด์ชนิด Triamcinolone acetonide ( TA ) เข้าส่วนที่นูนของแผลเป็นโดยตรงเดือนละครั้ง เพื่อสลายเนื้อคีลอยด์ โดยได้ผลดีที่สุดกับแผลเป็นขนาดเล็ก ได้ผลพอใช้กับแผลเป็นขนาดใหญ่โดยมีโอกาสเป็นใหม่ได้ประมาณ 30 - 50% หลังรักษา มีการพบว่าหากฉีดยาดังกล่าวร่วมกับยาอีกชนิดหนึ่งคือ 5- fluorouracil (5-FU) ทุกสัปดาห์จะทำให้ผลการรักษาดีมากยิ่งขึ้น
2. หากเป็นคีลอยด์ใหญ่มักใช้วิธีผ่าตัดด้วยมีดหรือเลเซอร์ ร่วมกับการฉีดยาสลายคีลอยด์ เพื่อป้องกันการกลับเป็นใหม่ หรือร่วมกับการทายาปรับภูมิต้านทานผิว ( Immunomodulator ) ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ เช่น ยา Imiquimod , Tacrolimus ประมาณ 2 เดือนขึ้นไป ก็ให้ผลการรักษาที่ดีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
3. เลเซอร์ ( Nd:YAG laser หรือ Pulsed dye laser ) และ แสงความเข้มสูง IPL ( Intensed Pulse Light ) สามารถลดความเข้มสีของแผลเป็น และช่วยไม่ให้คีลอยด์โตมากขึ้นได้
4. การแปะแผ่น Silicone gel บริเวณแผลเป็นทุกคืนหรืออย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมง นาน 4 - 6 เดือน โดยเริ่มใช้หลังแผลหายใหม่ๆ จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นได้รับแรงกด และความชุ่มชื่นจากแผ่น Silicone gel อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดอาการเจ็บ, คัน และช่วยให้คีลอยด์มีขนาดเล็กลงและนุ่มลงได้
5. ใช้ความเย็นจาก Liquid nitrogen จี้เพื่อทำลายเนื้อแผลเป็น ได้ผลปานกลาง อาจเกิดแผลเป็นใหม่ หรือทำให้เกิดแผลและสีผิวมีรอยด่างดำได้
ภายในไม่กี่ปีอาจมียาชนิดใหม่ที่รักษาและป้องกันแผลเป็นต่างๆได้ดียิ่งขึ้นอีก โดยใช้โปรตีนสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่พบมากในผิวตัวอ่อนมนุษย์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาบาดแผลให้หายได้โดยไม่มีแผลเป็น ( ชื่อว่า TGF ß3 : Transforming Growth Factor Beta-3 ) ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นการวิจัยทดลองรักษาอยู่ …ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการรักษาบาดแผลที่ล้ำสมัยเหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์ โดยสามารถทำให้แผลหายได้อย่างรวดเร็วไร้แผลเป็นก็เป็นได้