13 เมษา หรือวันไหนกันแน่ คือวันขึ้นปีใหม่ไทยในอดีต
สวัสดีครับเพื่อนๆ ทุกคน ใกล้วันปีใหม่เข้ามาทุกทีแล้วนะครับ หลายคนคงเตรียมตัวสำหรับกับการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดแสนวิเศษแห่งปี แต่ถ้าถามว่าวันหยุดไทยในอดีตคือเดือนอะไร หลายคนคงตอบทันทีว่าเมษายน แต่ถ้าถามว่าแล้วตรงกับวันอะไร ผมเชื่อว่าต้องมีผิดเกินครึ่งแน่นอนครับ เพราะก่อนที่ผมจะมานั่งพิมพ์อยู่นี้ผมเองก็ตอบผิดครับ55555 ไม่น่าเชื่อว่าวันหยุดในอดีตของบ้านเมืองเราเองแท้ๆ กลับไม่รู้เสียอย่างนั้น ก็เลยนำข้อมูลในอดีตมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ
ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายนแต่วันทางสุริยคติไม่แน่นอน คนสมัยก่อนจึงถือเอาวันที่ 13 เมษายน วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก
การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์
ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 4 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป
เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย
กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
และเพื่อไม่ให้เพื่อนๆ งง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 กับครั้งที่ 3 ซึ่งเดือนเมษายนกับเดือนห้า ก็คือเดือนเดียวกัน ดังนี้นะครับ
ปีใหม่ไทยในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย
ครั้งที่ 2 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งนับทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับทาง จึงเป็นวันที่ไม่แน่นอน
ครั้งที่ 3 วันที่ 1 เมษายน (เดือน 5)
ครั้งที่ 4 วันที่ 1 มกราคม
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น หลายคนละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่เลวร้ายให้มันผ่านไปกับวันสิ้นปีเก่า ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ก่อนเขียนเรื่องนี้คิดว่าหากผมได้เผยแพร่ในโพสท์จัง เพื่อนๆ หลายคนคงได้รับข้อมูลที่อาจลืมเลือน และถ้าหลายคนที่อ่านได้ทำการแชร์ต่อๆ กันไป อย่างน้อยวันปีใหม่ไทยในอดีตก็อาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีวันขึ้นปีใหม่ไทยในอดีต ขออวยพรปีใหม่ล่วงหน้าแต่เพื่อนๆ ทุกคนในโพสท์จัง ให้มีความสุข ความสำเร็จ คิดสิ่งใดสมความปรารถนาทุกประการนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ....mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ mata
ขอบคุณภาพประกอบ google.co.th
ที่มา: th.wikipedia.org, sanookwidipedia.com