ดอกศรีตรัง งดงามไม่แพ้ซากุระญี่ปุ่น
ศรีตรัง หรือ แคฝอย เป็นไม้ต้นขนาดเล็กในวงศ์ Bignoniaceae ปลูกเป็นไม้ประดับ สูง 4-10 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมขาว แตกล่อนเป็นแผ่นบางตามยาวคล้ายกระดาษ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ไม่มีก้านใบย่อย ดอก สีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนงตามกิ่งและซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วงเข้มปลายแยก 5 แฉก ผลแห้งแตกเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน
ศรีตรัง มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ จะออกดอกประมาณเดือน มกราคม-มีนาคม เป็นผลประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม
ศรีตรังมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ
- ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ปลายยอด
- ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ซอกใบตามกิ่งและปลายยอด
ชนิดที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทยได้แก่ชนิดที่ 2 (Jacaranda filicifolia D.Don)
เกร็ดความรู้มาฝากครับ
ต้นศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรังและเป็นไม้ประจำหน่วยงานและสถานศึกษาดังต่อไปนี้
- โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
- โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็เคยใช้ศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยแต่เมื่อศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้นำต้นไม้นี้ไปปลูกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยที่นั่นไปแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเปลี่ยนไปใช้ต้นกันภัยมหิดลเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยแทน
ทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวของดอกศรีตรังที่มีความสวยไม่น้อยเลย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงไม่เคยได้เห็น ผมเองเห็นว่าสวยก็เลยอยากนำมาฝากเพื่อนๆ ให้ได้รู้จักกันไว้ ธรรมชาติอันสวยงามของบ้านเรายังมีอีกมากมายให้ได้เรียนรุ้ แล้วพบกันใหม่ครับ....mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพประกอบ oknation.net
ที่มา: http://th.wikipedia.org/