สมเด็จพระนเรศวรฯ ชื่อที่ถูกต้องจริงๆ คือสมเด็จพระนเรศ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกมีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรสส, องค์ดำ
" สมเด็จพระนเรศวร ฯ " ในความเป็นจริงแล้วชื่อที่ถูกจารึกมากที่สุด คือ " สมเด็จพระนเรศ " ไม่มีคำว่า " ศวร " เนื่องจากการชำระประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของไทย ซึ่งอ่าน " สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช " เป็น สม - เด็ด - พระ - นะ - เร - สวน - รา - ชา - ทิ - ราด ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องอ่านว่า สม - เด็ด - พระ - นะ - เรด - วอ - ระ - รา - ชา - ทิ - ราด ซึ่ง " วรราชาธิราช " นี้เป็นสร้อยพระนามแปลว่า " พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ " ที่สมเด็จพระนเรศ นำสร้อยพระนามมาต่อท้ายพระนาม เพื่อยืนยันสิทธิธรรมในราราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาของพระองค์เอง
เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านก็อาจจะมีข้อสงสัย ผมเองก็เช่นกันครับ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็จารึกเช่นนั้นจริงๆ ก็คงต้องยอมรับ แต่คงไม่มีใครที่จะเรียกสมเด็จพระนเรศเป็นแน่เพราะน้อยคนนักที่จะรู้จัก หากเด็กตอบข้อสอบที่คุณครูให้ว่าสมเด็จพระนเรศก็รับรองว่าครูต้องบอกว่าผิดแน่นอน
ก็เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ครับ นำมาบอกกล่าวกันไว้ประดับความรู้อีกหนึ่งเรื่อง....mata
ที่มา: Porramate Chumyim, th.wikipedia.org