หลุมโอโซนปี 2012 ลดต่ำสุดอันดับสองในรอบยี่สิบปี
ท่ามกลางข่าวร้ายของภาวะโลกร้อน ก็มีข่าวดีที่ว่า พื้นที่ของหลุมโอโซนที่ขั้วโลกแอนตาร์กติกในปีนี้ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 20 ปี จากรายงานของนาซ่าและดาวเทียมโนอา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมาจากการที่อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสตราโตสเปียร์บนทวีปแอนตาร์กติกอุ่นขึ้นด้วย
ภาพของหลุมพร่องโอโซนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 บริเวณขั้วโลกใต้ (โอโซนถูกทำลายมาก)
ภาพของหลุมพร่องโอโซนขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมาในรอบ 20 ปี ซึ่งเกิดขึ้นใน 25 ตุลาคม 2555 บริเวณขั้วโลกใต้ (โอโซนถูกทำลายน้อยลง)
หลุมโอโซนมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน กินพื้นที่ 8.2 ล้านตารางไมล์ (21.2 ล้านตารางกิโลเมตร) เทียบเท่ากับขนาดประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกรวมกัน และขนาดเฉลี่ยของหลุมโอโซนในปี 2012 นั้นอยู่ที่ 6.9 ล้านตารางไมล์ (17.9 ล้านตารางกิโลเมตร) ขณะที่วันที่ 6 กันยายน ปี 2000 นั้น ขนาดของหลุมโอโซนมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาคือ 11.5 ล้านตารางไมล์ (29.9 ล้านตารางกิโลเมตร)
"ส่วนใหญ่แล้ว หลุมโอโซนเกิดจากคลอรีนที่มาจากสารเคมีที่มนุษย์ผลิตขึ้น และระดับคลอรีนเหล่านี้ยังคงมีอยู่เยอะในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ของทวีปแอนตาร์กติก" พอล นิวแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรยากาศโลก ของศูนย์อวกาศก็อดดาร์ดขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า กล่าว
"ความผันผวนของสภาวะอากาศนี้เป็นผลมาจากการที่อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์อุ่นขึ้นในปีนี้ อุณหภูมินี้ไปมีผลทำให้หลุมโอโซนแคบลง"
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า โอโซนในชั้นบรรยากาศของโลกจะไม่ลดลงไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะสารเคมีที่จะมาทำลายโอโซนจะไม่เข้มข้นไปกว่านี้แล้ว และยังจางลงไปเรื่อยๆด้วย
ชั้นโอโซนในบรรยากาศของโลกเปรียบเสมือนโล่ธรรมชาติที่ป้องกันโลกให้พ้นจากภยันตรายจากรังสีอุลตราไวโอเล็ตหรือรังสียูวีเอาไว้ ซึ่งรังสีชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังในคนได้ ปรากฏการณ์หลุมโอโซนนั้นเริ่มเกิดขึ้นประมาณต้นทศวรรษที่ 1980 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า โอโซนในชั้นบรรยากาศเหนือทวีปแอนตาร์กติกจะไม่มีวันหลับมาเหมือนเดิมได้จนกว่าจะถึงปี 2065 และที่ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูนานนี้เพราะสารเคมีที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศมีอายุนาน แต่อย่างไรก็ตาม โอโซนในชั้นบรรยากาศจะไม่ลดลงไปกว่นี้แล้ว เพราะความเข้มข้นของสารทำลายโอโซนได้ลดลงไป และการลดลงของสารเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการออกกฎระเบียบในการผลิตสารเคมีบางอย่างออกมา
และในปีนี้ นับเป็นปีที่ความเข้มข้นของโอโซนในชั้นบรรยากาศแอนตาร์กติกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว โดยหลุมโอโซนที่เกิดขึ้นรวมกันคิดเป็นปริมาณน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในรอบสองทศวรรษ โดยการวัดปริมาณโอโซนคร่าวๆที่วัดในหน่วยด็อบสัน (DU) นั้นไปแตะระดับ 124 DU เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และเมื่อดาวเทียมโนอาโคจรมาวัดที่ขั้วโลกใต้ ก็วัดได้ 136 DU เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหากไม่มีหลุมโอโซนอยู่เลย ปริมาณโอโซนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 240-500 DU
อนึ่ง นับว่าปีนี้เป็นปีแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจหลุมโอโซนจากเครื่องมือติดตามโอโซนบนดาวเทียม Suomi National Polar-orbiting Partnership (NPP) ด้วยเครื่องมือ Ozone Mapping Profiler Suite (OMPS)
นอกจากดาวเทียมดวงนี้จะให้ข้อมูลการเกิดขึ้นและการขยายของหลุมโอโซนแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่า OMPS จะช่วยให้เข้าใจการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ระดับกลางและระดับสูงมากขึ้น
"เครื่องมือ Limb ของ OMPS จะดูด้านข้าง และมันจะวัดโอโซนตามระดับความสูง เครื่องมือ OMPS นี้จะทำให้เราตรวจดูการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ระดับล่างเหนือทวีปแอนตาร์กติกได้อย่างใกล้ชิด"
นานๆ จะได้ยินข่าวดีสักทีนะครับ เพื่อนๆ อ่านแล้วงงหรือเปล่าครับ สรุปก็คือการมีอยู่ของโอโซนมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกใบนี้ช่วยป้องกันรังสียูวีบี (UVB) ความยาวคลื่นที่เป็นอันตรายมากที่สุด (280-315 นาโนเมตร) ผลของรังสียูวีบีจะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก การเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ต่อกระจก และการลดลงของจำนวนแพงค์ตอนพืชในเขต photic ของมหาสมุทร โอโซนหากมีหลุมก็เท่ากับเป็นช่องโหว่ของโอโซน เพราะฉะนั้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.55 พบว่าหลุมหรือช่องโหว่มีขนาดลดลง ก็เท่ากับเราได้โอโซนเพิ่มขึ้นครับ
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ภาพประกอบจาก http://www.theweathernetwork.com
อ้างอิง: NASA/Goddard Space Flight Center (2012, October 24). 2012 Antarctic ozone hole second smallest in 20 years. ScienceDaily. Retrieved October 25, 2012, from http://www.sciencedaily.com/releases/2012/10/121024164723.htm
ที่มา: vichakarn.com, th.widipedia.ort