พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย
พระพุทธเจ้าหลวง พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อวงการถ่ายภาพไทย อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจ และเป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนในวงการถ่ายภาพ และประชาชนชาวไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 เห็นสมควรให้ดำเนินการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย ด้วยเหตุผล 6 ประการ คือ
- เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่มีความสนพระราชหฤทัยอย่างมาก ในวิชาการถ่ายภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ กล่าวคือ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "การถ่ายรูป" ตีพิมพ์ในหนังสือกุมารวิทยา ซึ่งในพระราชนิพนธ์นี้ ได้แสดงให้เห็นว่า ทรงเข้าพระทัยเรื่องการถ่ายภาพบนแผ่นเงิน การถ่ายภาพแบบกระจกเปียก และกระจกแห้ง เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังโปรดที่จะทรงถ่่ายภาพเป็นอย่างมาก เช่น การเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2449 เมื่อเสด็จประพาสที่ใด ก็จะทรงหยุดเพื่อทรงถ่ายภาพทิวทัศน์ วัดวาอาราม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่า 40 ครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องสำหรับถ่ายภาพ ที่งานไหว้พระ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- มีพระวิริยะ และทรงอุทิศเวลาในการถ่ายภาพ ทรงศึกษาทดลองและค้นคว้าให้ได้ภาพถ่ายที่ทรงคุณค่า กล่าวคือ ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อกล้องมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรอบรู้ในกระบวนการทั้งหมดของการถ่ายภาพในสมัยนั้น ทรงแก้ไขกลไกส่วนต่างๆ ของกล้องได้อย่างเข้าใจ และยังทรงแนะนำนายช่างชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้ผลิตกล้อง ให้แก้ไขเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น
- ทรงเป็นเอตทัคคะทางด้านการถ่ายภาพ ที่มีความชำนาญทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเด่นชัด กล่าวคือ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร ฝึกหัดการถ่ายภาพ และเป็นที่ทราบกันดีว่า จะมีการนำสมุดภาพทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตร และขอพระราชทานคำแนะนำอยู่เสมอๆ ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ อย่างผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ทั้งในภาคปฏิบัติ และเชี่ยวชาญในภาคทฤษฎีเป็นอย่างดี แม้แต่ชาวต่างชาติยังชื่นชมภาพฝีพระหัตถ์ด้วยความปลาบปสื้ม
- ทรางมีผลงานภาพถ่าย พระราชนิพนธ์ และข้อพระราชวินิจฉัย ตลอดจนทรงจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่สอดคล้องในวิชาการถ่ายภาพ อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่า ทั้งในด้านวิชาการ และประวัติศาสตร์ของชาติ กล่าวคือ ทรงมีผลงาน ภาพฝีพระหัตถ์มากมาย ทั้งในประเทศและประเทศต่าง ทุกประเทศที่ได้เสด็จประพาส พร้อมทั้งทรงจดบันทึกข้อคิดเห็น เกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพ สถานที่ และ เหตุการณ์ต่างๆ ไว้
- ทรงส่งเสริมการถ่ายภาพให้เป็นที่แพร่หลาย เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ในการพัฒนา จนเกิดความเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ กล่าวคือ ทรงส่งเสริมให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝึกหัดการถ่ายภาพ ด้วยการซื้อกล้อง และพระราชทานเพื่อจักได้นำไปถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการวาดภาพขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2447 และในปีต่อมา ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์การถ่ายภาพของไทย คือ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดภาพถ่ายเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีการประกาศแจ้งข่าวการจัดประกวดการถ่ายภาพ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2448 ซึ่งถือว่า เป็นวันเริ่มต้นของการส่งเสริมการถ่ายภาพของไทย อย่างสมบูรณ์ตามแบบอย่างสากล
- ในครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรป ได้ฉายพระบรมรูปกับพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย และภาพนั้น ได้เผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ทั่วยุโรป ด้วยพระปรีชาสามารถในการดำเนินวิเทโศบายต่างประเทศ ด้านรักษาความมั่นคงของชาติ จากภาพคู่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ครั้งนั้น ทำให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลาย ประจักษ์ชัดถึงความสัมพันธ์อันดีของประเทศสยามและรัสเซีย จึงไม่กล้าที่จะหักหาญกับประเทศสยาม เช่นที่ทำกับประเทศอื่นๆ ในเอเซีย ทำให้ประเทศสยามยังคงดำรงความเป้นเอกราช อยู่ภายใต้ประเทศเดียว จนเป็นประเทศไทยทุกวันนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ยังมีมติเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 23 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น วันนักถ่ายภาพไทย โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ามีประกาศแจ้งข่าวการประกวดภาพถ่าย เป็นครั้งแรก (23 พฤศจิกายน 2448) อันถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้น ของการส่งเสริมให้การถ่ายภาพของไทย มีมาตรฐานเทียบเทียมกับสากล











