ปริศนาถ้าไวกิ้งแห่งอันดามัน
ถ้ำไวกิ้ง ( Viking Cave) เป็นชื่อเรียกแหล่งท่องเที่ยวในทะเลอันดามันสีมรกตของจังหวัดกระบี่ เป็นเพิงผาถ้ำมุมทางทิศใต้ของเกาะพีพีเลย์ (Pi Pi Lay) ตรงกันข้ามกับอ่าวมาหยาอันเลื่องชื่อ ที่เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์เรื่องThe Beach
ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเป็นเกาะพีพีดอน อันเป็นที่ตั้งของโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และย่านธุรกิจท่องเที่ยวหรือจะเรียกว่าเป็น "นครหลวงของหมู่เกาะพีพี" ก็ไม่ผิดนัก
ในซอกมืดหนึ่งของเพิงถ้ำกลางทะเล มีภาพเขียนปรากฏอยู่บนผนังถ้ำในตำแหน่งเหนือศรีษะ ที่น่าแปลกก็คือ แทนที่จะเขียนภาพในที่สว่าง กลับไปหามุมมืดเพื่อเขียนภาพ จึงต้องใช้แสงสว่างจากการก่อไฟเพื่อเขียนภาพเหล่านั้น
ผู้เขียนภาพน่าจะใช้มุมมืดนี้เป็นที่ส่วนตัว เพื่ออาศัยหลับนอนที่ต้องแยกจากคนอื่น ๆ ก็เพราะเป็นคนในตำแหน่งหัวหน้า หรือ ผู้ที่สำคัญที่สุดของกลุ่มคนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ของถ้ำไวกิ้งในช่วงเวลานั้น ๆ
บนผนังถ้ำมีภาพเรือใบสามเสา หัวงอน อันเป็นที่มาของชื่อ"ไวกิ้ง" ผู้ที่ตั้งชื่อนี้เป็นคนในยุคปัจจุบันนี้แหละที่ขึ้นไปเที่ยวชมถ้ำเก็บรังนกนางแอ่นในช่วงแรก ๆ เป็นคนมีความรู้ และโลกทัศน์เรื่องชาวไวกิ้งของยุโรปเหนือมากพอสมควร การท่องเที่ยวจึงนำชื่อมาใช้ในการโปรโมท
ยังมีภาพเรือโป๊ะจ้ายกำลังกางใบ (เรือใบสองเสา)โดยมีเรือลึกลับติดธงรูปร่างแปลก ๆ ของคนอยู่บนเรือและมีฝีพาย!!!!!
นอกจากนี้ ยังพบอักษรอาหรับโบราณ ในมุมมืดหนึ่ง ปรากฎอักษรเลข 1318 อย่างชัดเจน หรือจะเป็นการลงชื่อมาเยือนของชาวอาหรับพร้อมลงเวลาในปฏิทินอิสลามิค ซึ่งตรงกับสมัยของกรุงศรีอยุธยา
ภาพเขียนเรือในถ้ำไวกิ้งนี้ เป็นภาพที่มีการเขียนหลายครั้งหลายเวลา ภาพเก่าใช้สีดินแดง (ลูกรัง - เฮมาไทต์ - เหล็ก) และสีดำจากเขม่า ผสมยางไม้แห้งเร็วทั่วไป การลงสีมีน้ำหนักอ่อนเบา หนาบาง เป็นเทคนิคการเขียนภาพแบบสมัยใหม่หรือแบบตะวันตก
ภาพเขียนในสมัยหลังจะมีสีเดียว ต่อเติมจากภาพร่างเก่าบ้าง เขียนใหม่ทับไปบนภาพเก่าภาพบ้าง เขียนภาพเรือใหม่ต่างหากและขีด ๆ เขียนเป็นไม่เป็นรูปร่าง
ภาพเขียนในถ้าไวกิ้ง เป็น "หลักฐาน" สำคัญของอดีต ที่สะท้อนภาพของความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาที่เข้ามาเขียน
ภาพเรือที่เริ่มเขียนครั้งแรกหรือเป็นภาพที่เก่าที่สุด เป็นภาพเรือใบสองเสาหรือเรือโป๊ะจ้าย เรือกินน้ำตื้น แล่นไปมาระหว่างเกาะกับแผ่นดิน หรือลัดเลาะไปตามแผ่นดิน จะสังเกตได้ว่า ด้านหน้าเรือมีรูปของ"ลูกตา" อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรือในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากเรือสำเภาจีน
ภาพเรือโป๊ะจ้ายกินน้ำตื้นมีลูกตา ปรากฏในภาพเขียนต้นรัตนโกสินทร์ เป็นภาพเหตุการณ์ตอนศึกปัตตานีของกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท กำลังชักลากปืนใหญ่พญาตานีกลับมาพระนคร
ภาพเรือใบสามเสาที่เคยเชื่อกันว่าเป็นเรือของอาหรับนั้น แท้จริงคือเรือสำเภาขนาดกลางของ อาณาจักรจีน และ เรือจีน - สยามที่เดินทางไปค้าขายกับทางอินเดียและตะวันตก
ที่เรียกว่าจีน - สยามก็เพราะว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์เป็นต้นมา ขุนนางเชื้อสายจีน เปอร์เซียและชาวตะวันตกจะได้รับราชการเป็นผู้ดูแลกรมพระคลัง และกรมท่า ด้วยฝีมือการค้าขายทางทะเล เรือใบสามเสานี้ก็มีรูปของ"ลูกตา" อยู่ทางด้านหน้าของเรือเช่นกัน
เหตุการณ์สำคัญของถ้ำไวกิ้ง อยู่ที่ภาพเขียนใหม่ที่ซ้อนไปภายหลัง ผู้เขียนใช้จินตนาการจากประสบการณ์จริงหรือจากความจำก็ไม่อาจตัดสินได้ เขาพยายามเขียนลากซ้อนเส้นไปยังภาพเรือเก่าที่สุด เป็นลักษณะของภาพ โครงร่าง "Layout" เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวภาพระหว่างกัน
เขาเขียนภาพเรือที่มีขนาดเล็ก ไม่กางใบเรือ มีฝีพายและบุคคลพร้อมอาวุธ กำลังพุ่งหัวเรือตรงไปที่เรือโป๊ะจ้ายหรือเรือใบสองเสา ภาพที่เขียนในสมัยก่อนหน้า !!!!
มีลายเส้นหนึ่งโยงไปพันเสากระโดงเรือเป้าหมาย ผู้คนบนเรือกำลังลั่นกลอง เตรียมเข้าทำการอะไรบางอย่าง หรือนี่คือภาพของ "โจรสลัดกำลังอาละวาด" ในทะเลอันดามัน
ชะตากรรมของเรือสินค้านั้นจะเป็นเช่นใด เขาไม่ได้เขียนภาพต่อจากนั้นเอาไว้ แต่ผมเชื่อว่า "จินตนาการ" ของคุณ ....กำลังบอกเล่าเรื่องต่อจากนั้นได้เอง
ภาพเขียนที่เคยอธิบายกันว่าเป็นภาพเรืออาหรับหรือเรือของยุโรปที่เก่าแก่นั้น ก็คือเรือสัมปทานรังนกและเรือสินค้าขนาดเล็กทั่วไปในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง
ภาพเรือเหล่านี้จึงเป็นภาพใน "ความทรงจำ" ของผู้ที่เดินทางเข้ามาเก็บสัมปทานรังนกที่มีหลักฐานเอกสารการขอสัมปทานในช่วงกลางกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
รังนก เป็นสินค้าสำคัญของสยามไปขายยังเมืองจีน ผู้รับสัมปทานส่วนมากจะเป็นขุนนางและชาวต่างประเทศเท่านั้น ไพร่ฟ้าหมดสิทธิ์....
ผู้คนที่เดินทางและค้าขายทางทะเล ต่างหวาดกลัวและได้เล่าขานเรื่องราวของโจรสลัดที่บุกปล้นทำลายเรือสินค้า บ้างก็ปราณี บ้างก็โหดร้าย
เรื่องราวของโจรสลัดในน่านน้ำช่องแคบมะละกาและในทะเลจีนใต้แถบเวียดนาม ล้วนมีชื่อเสียงมาช้านานตั้งแต่สมัยเริ่มแรกที่มีการเดินทางทางทะเล ผ่านช่องแคบดังกล่าว ผู้คนมากมายล้มตาย สินค้าถูกปล้นสดมภ์ รัฐต่าง ๆ ในเขตอันตรายได้มีการจัดกองเรือรบเพื่อปราบปรามโจรสลัดในทุกสมัย รวมทั้งรัฐอยุธยาก็ได้จัดกองเรือรบทางทะเลไว้เพื่อการคุ้มครองขบวนเรือสินค้าที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางทะเลเหล่านี้ด้วย
ดังตัวอย่างที่โจวเหวินฟะ หัวหน้าโจรสลัดแห่งเทมาเส็ก ในเรื่อง Pirates of the Caribbean ก็คือภาพลักษณ์ของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาในอดีตนั่นเอง
โจรสลัดแห่งสิงคโปร์!!!!!
ถ้ำไวกิ้ง จึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงเพิงผาถ้ำ ที่มีภาพเรือสำเภาอายุเก่าแก่ แต่ถ้ำไวกิ้งเป็นเสมือน "คลังความรู้" ที่สะสม และ "บอกเล่า"เรื่องราวแห่งท้องทะเล ผ่านภาพจินตนาการหรือภาพเขียนประสบการณ์ของผู้คนในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาในแถบอันดามันนี้
เชื่อได้ว่า .....ในครั้งหนึ่งนั้น ผู้เขียนภาพจะต้องเคยพบหรือได้ยินเรื่องราวของปีศาจแห่งท้องทะเล จนเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญ ได้ระบายความอึดอัดใจนั้นมาสู่การเขียนภาพเรือโจรสลัดไล่ล่าภาพเรือที่เขียนไว้ก่อนหน้าในถ้ำ
หรือเป็นเพราะ "จิตสำนึก" ด้านมืดของเขา ด้านมืดของจิตใจมนุษย์ กำลังสั่งให้เขาเขียนภาพเพื่อระบายความ "อยากได้ อยากมี อยากเป็น" จึงกลายมาเป็นภาพของเรือโจรสลัดที่อยากเข้าปล้นชิงของ ๆ ผู้อื่น โดยที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์นั้นจริง ๆ ในชีวิตของผู้เขียนภาพ .....ก็เป็นได้ !!!!!!!
ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จ ประพาสถ้ำแห่งนี้ และทรงพระราชทานนามใหม่ให้กับถ้ำไวกิ้ง ว่า"ถ้ำพญานาค " ตามรูปร่างของหินงอกที่คล้ายรูปพญานาค
ขอบคุณ ศุภศรุต