อัญมณีของ "ตุตันคาเมน" Libyan Desert Glass
อัญมณีของตุตันคาเมน
ทับทรวงของฟาโรห์ตุตันคาเมน
ในการค้นพบสุสานของกษัตริย์ อียิปห์ โบราณ พบเครื่องประดับชนิดหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีหินสะเก็ดดาวสีขาวแบบLibyan Desert glass เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับชิ้นนี้ ซึ่งเครื่องประดับชิ้นนี้ถูกค้นพบเมื่อประมาณปี 1922 คาดว่าเป็นเครื่องประดับของกษัตริย์ ช่วง Tutankhamen
นักธรณีวิทยาชาวอิตาเลียน ที่มีชื่อว่า วินเซนโซ เดอ มิเชล (Vincenzo de Michele) เป็นผู้ที่สังเกตเห็นว่ามีอัญมณีที่มีลักษณะประหลาดอยู่ตรงกลางสร้อยเส้นหนึ่งของฟาโรห์ “ตุตันคาเมน” ที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อนำไปตรวจสอบแล้วพบว่า อัญมณีเม็ดนั้นเป็นแก้ว ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าอารยธรรมอียิปต์ตอนต้น สันนิฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณ 28 ล้านปี
ภาพตัวอย่างหินสะเก็ดดาว (Libyan Desert Glass)
ตุตันคาเมน นำแก้วนี้มาจากไหน?
Libyan Desert glass หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหินสะเก็ดดาว หลังจากที่มีการค้นหาต้นกำเนิดของแก้วปริศนา จนไปพบแก้วแบบนี้กระจายอยู่ทั่วไปในทะเลทรายซาฮารา จึงนำไปสู่ปริศนาทางวิทยาศาสตร์ว่า “แก้วเหล่านั้นไปอยู่ในบริเวณ ดังกล่าวได้อย่างไร”
การหาคำตอบเกี่ยวกับแก้วปริศนาเร้นลับนี้ มีหลายข้อสันนิษฐานแต่ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือ น่าจะเกี่ยวกับอุกาบาตที่มาจากนอกโลก
ดังที่ จอห์น วัสสัน (John Wasson) นักธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ที่สนใจต้นกำเนิดของแก้วปริศนา ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะมีสมมติฐานเดียวกันกับสิ่งที่เกิดในป่าในไซบีเรียเมื่อปี 1908 ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ตังกัสกา (Tunguska) ที่เกิดระเบิดครั้งใหญ่จนต้นไม้ 80 ล้านต้นในบริเวณนั้นราบเป็นหน้ากลอง แต่อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานใดๆที่จะยืนยันได้ว่าเคยมีอุกกาบาตมาชนโลก ในช่วงสมัยอียิปต์โบราณ ขณะที่วัสสันตั้งข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีการระเบิดในอากาศในลักษณะคล้ายกันกับที่ตังกัสกา ซึ่งรุนแรงมากถึงขนาดทำให้ทรายในทะเลทรายอียิปต์ได้รับความร้อนจนหลอมละลายกลายสภาพเป็นแก้ว ซึ่งสีที่เกิดก็เกิดจากเม็ดทรายน้อยใหญ่ในทะเลทรายซึ่งเมื่อโดนความร้อนสีจึงออกมาทั้ง สีเหลือง เหลืองอมเขียว และขาวอมเหลือง เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้เลยทำให้นึกถึงพลอยจันทร์ที่ขึ้นชื่อว่ามีสีสวย เพราะเมื่อนำพลอยมาเผาด้วยความร้อนสูงจะทำให้พลอยมีสีเข้มและสวยขึ้น คงทำนองเดียวกัน อันนี้นอกเรื่องไปหน่อย
แผนที่บริเวณที่พบหินสะเก็ดดาว Libyan Desert Glass
เรื่องแก้วปริศนานี้เริ่มคลี่คลายเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกภาพดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี (Shoemaker-Levy) ชนกับดาวพฤหัสบดีและเกิดระเบิดในชั้นบรรยากาศได้ในปีค.ศ.1994 จากภาพที่บันทึกได้แสดงให้เห็นภาพของลูกไฟสว่างเจิดจ้าพุ่งขึ้นเหนือเส้นขอบฟ้าของดาวพฤหัส
มาร์ก บอสลัฟ (Mark Boslough) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองปรากฏการณ์อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก ตั้งข้อสังเกตว่า หากอุกกาบาตพุ่งชนโลก จะทำให้เกิดลูกไฟขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงถึง 1,800 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรง จนอาจทำให้เกิดลูกไฟจำนวนมาก รวมทั้งเกิดแก้วปริศนาขึ้นโดยทั่วไปหลายแสนตารางไมล์ โดยปราศจากร่องรอยหลุมอุกกาบาต และจะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในเขตรัศมีดังกล่าวไม่มีชีวิตรอดอยู่ได้เลย
หรือว่าแก้วปริศนาที่สร้อยทับทรวงของตุตันคาเมน จะมาจากนอกโลกจริง ?
ท้ายนี้หวังว่าเพื่อนๆ คงสนุกกับการอ่าน ยังมีบทความดีๆ รออยู่อีกอย่าลืมติดตามนะครับ
เขียนโดย : พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
หมายเหตุ เนื่องจากมีบุคคลจากเวปอื่นคัดลอกบทความที่ผมเขียนไปโพสท์ต่อ ขอความกรุณาอ้างอิงด้วย (ให้เครดิต) ขอบคุณครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : The Deconstruction zone.blogpost.com, www.b14643.de/sahara/ldg and www.aestheticmetrorites.com