พิชิตขั้วโลกใต้ ตอนอามุนเซนกับชัยชนะ
สวัสดีครับ เพื่อนๆ เมื่อตอนที่แล้วผมได้นำเสนอสกู๊ป พิชิตขั้วโลกใต้เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา และผมได้เขียนไว้ว่าจะนำเรื่องราวในรายละเอียดว่า "ทำไมอามุนเซนจึงชนะสก๊อต" และเผอิญมีเพื่อนบางท่านอยากอ่านเรื่องราวต่อ วันนี้ก็ได้เรียบเรียงในรายละเอียดของการวางแผนการเดินทาง, การเตรียมเสบียง, รวมถึงการใช้สุนัขลากเลื่อนที่มีบทบาทสำคัญของอามุนเซนในการพิชิตขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ ลองมาอ่านดูนะครับ
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1909 Roald Amundsen ได้แวะไปเยี่ยม Fridtjof Nansen ที่บ้านในกรุง Oslo ประเทศนอร์เวย์ (Nansen เป็นนักสำรวจที่มีชื่อเสียงที่สุดขณะนั้น ในฐานะผู้เดินทางข้ามเกาะ Greenland ด้วยสกีได้สำเร็จเป็นคนแรกในปี 1888 และต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1922 จากการจัดตั้งองค์การบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในสงครามโลกครั้งที่ 1) เพื่อขอยืมเรือ Fram ที่ Nansen เคยใช้ในการเดินทางไป Greenland และสำรวจทวีปอาร์กติก เพราะ Fram ได้รับการออกแบบให้ลอยตัวขึ้นเวลาถูกภูเขาน้ำแข็งบีบอัด จึงทำให้เรือไม่แตก โดย Amundsen ให้เหตุผลว่า ตนประสงค์จะใช้ Fram เดินทางไปขั้วโลกเหนือ
แม้ Nansen จะไม่รู้สึกเป็นเพื่อนที่สนิทชิดชอบกับ Amundsen มาก แต่ก็รู้ว่า Amundsen เป็นคนมีความสามารถและวิญญาณของนักสำรวจเต็มตัว ดังนั้นจึงอนุญาตให้นักสำรวจหนุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 11 ปี ยืม Fram ไป นอกจากเหตุผลข้อนี้แล้ว Nansen เองก็รู้สึกว่าตนกำลังวุ่นวายยุ่งกับการทำงานการเมืองจนไม่มีเวลาจะใช้เรือ Fram อีกแล้วในอนาคต
หลังจากที่ได้ Fram Amundsen ก็เริ่มวางแผนการเดินทาง โดยในเบื้องต้นเขาต้องหาทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในอังกฤษและอเมริกา หลังจากที่ได้เงินทุนบ้างแล้ว รัฐสภาของนอร์เวย์ก็ได้อนุมัติเงินเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น Amundsen จึงนำบ้านของตนไปจำนำ จึงได้ก้อนเงินตามที่ต้องการสำหรับซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อใช้ในการเดินทางไปขั้วโลกเหนือในราวเดือนมกราคม ค.ศ.1910
แต่เมื่อ Amundsen ได้ทราบข่าวว่า Robert Peary ได้เดินทางถึงขั้วโลกเหนือแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1909 ความฝันของ Amundsen ก็สลายทันที แต่เขารู้สึกซึมเศร้าไม่นาน ก็มีอารมณ์ดีขึ้นเพราะได้ความคิดจะเดินทางไปขั้วโลกใต้เป็นคนแรกแทน และคิดจะไม่บอกใครใดเลย เรื่องการเปลี่ยนแผนการเดินทาง เพราะตนได้บอกทุกคนที่สนับสนุนรวมทั้ง Nansen ว่าตั้งใจจะไปขั้วโลกเหนือ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแผนตนก็อาจต้องคืนเงิน ดังนั้น เมื่อหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษฉบับวันที่ 13 กันยายน 1909 ลงข่าวว่า Robert Scott กำลังจะเดินทางไปขั้วโลกใต้เป็นคนแรก Amundsen ก็ตระหนกตกใจอีกและตระหนักทันทีว่า เขากำลังจะมีคู่แข่งที่น่ากลัว จึงคิดเก็บแผนเดินทางไปขั้วโลกใต้ของตนเป็นความลับให้นานที่สุด เพราะถ้า Scott รู้ เขาก็จะรีบออกเดินทางเพื่อให้ถึงขั้วโลกใต้ก่อน
Amundsen เริ่มเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ อุปกรณ์เดินเรือ วัสดุซ่อมเรือและซ่อมเลื่อน อาหารของคณะสำรวจตลอดเส้นทางทั้งขาไปและกลับ รวมทั้งอาหารสำหรับสุนัขลากเลื่อน และที่สำคัญ คือ คณะเดินทางซึ่งต้องเลือกอย่างระมัดระวัง และด้วยการสัมภาษณ์ และทดสอบความสามารถ ในที่สุด Amundsen ก็เลือกลูกทีมได้ 19 คน โดยมี Hjalmar Johansen เป็นคนหนึ่งในคณะเดินทาง สำหรับ Johansen ผู้นี้เป็นคนมีประสบการณ์เดินทางกับ Nansen มาแล้วในอดีต และมีความสามารถสูงในการควบคุมสุนัขลากเลื่อนที่มีจำนวนมากถึง 97 ตัวได้ เพราะ Amundsen เชื่อว่า สุนัข Greenland เป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงและสามารถต่อสู้กับความหนาวขั้วโลกได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเขาจึงเชื่อมากว่าสุนัขจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ
หนึ่งวันก่อนออกเดินทาง Amundsen ได้เปิดเผยความตั้งใจของเขาที่จะไปขั้วโลกใต้ กับลูกทีมที่สนิทเพียง 3 คน ส่วนลูกทีมคนอื่นๆ ก็ยังเข้าใจว่า Amundsen จะไปขั้วโลกเหนือโดยเรือ Fram โดยจะไม่แล่นจาก Oslo ตรงขึ้นทางเหนือ แต่จะมุ่งหน้าไปทวีปอเมริกาใต้ก่อนแล้วอ้อมทวีปเพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นจะมุ่งตรงไปที่ช่องแคบ Bering เพื่อไปให้ถึงขั้วโลกเหนือในที่สุด (ในสมัยนั้นยังไม่มีคลอง Panama)
ในวันที่ 9 สิงหาคม 1910 เรือ Fram ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง Oslo และ Amundsen ได้เขียนจดหมายถึง Nansen เพื่อขอโทษที่ตนต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง โดยมิได้เดินไปบอก Nansen เป็นการส่วนตัว แล้ว Amundsen ก็จบจดหมายโดยกล่าวว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเดินทางของเขาจะชดเชยความผิดทุกประการที่เขาได้ล่วงเกินทำไป
Amundsen ยังได้เขียนจดหมายถวายรายงานต่อกษัตริย์ Norway เพื่อให้พระองค์ทรงทราบเรื่องการเปลี่ยนแผนการเดินทางของตนด้วย
ในวันที่ 6 กันยายน 1910 เรือได้เดินทางถึงเกาะ Madeira ของสเปนที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อรวบรวมเสบียงอาหารกับน้ำจืด และเปิดโอกาสให้กะลาสีซ่อมแซมส่วนของเรือที่ชำรุด Amundsen ได้อนุญาตให้ลูกเรือขึ้นฝั่งเพื่อพักผ่อนเป็นเวลา 3 วัน เมื่อทุกคนกลับมาขึ้นเรือ Amundsen ก็ได้บอกให้ทุกคนรู้ว่า เรือกำลังจะเดินทางไปขั้วโลกใต้ การรู้จุดหมายปลายทางใหม่อย่างไม่ทันตั้งตัวทำให้คนที่ไม่รู้มาก่อนถึงกับอ้าปากค้าง แต่ก็เห็นดีด้วย เพราะคิดว่า ณ เวลานั้นขั้วโลกใต้อยู่ใกล้เรือยิ่งกว่าขั้วโลกเหนือ ถึงการเดินทางจะลำบากสักปานใด แต่โครงการก็จะสำเร็จลุล่วงในเวลาอีกไม่นาน ทุกคนจึงเห็นว่า การไปถึงขั้วโลกใต้ในปีก 1 ปีดีกว่าที่เรือต้องลอยเท้งเต้งในมหาสมุทรนานอีก 3 ปี และเพื่อให้ทุกคนที่จะไปรู้สึกยินดี และยินยอม Amundsen ได้บอกว่า ลูกเรือคนใดที่ไม่ต้องการจะไปขั้วโลกใต้ และต้องการเดินทางกลับนอร์เวย์ Amundsen ก็อนุญาต และจะจ่ายค่าเดินทางกลับให้ด้วย พร้อมกันนั้น Amundsen ก็ได้ส่งโทรเลขบอก Robert Scott ว่าเรือ Fram ของเขากำลังมุ่งหน้าเดินทางไปทวีป Antarctica แต่ Amundsen ก็ไม่ส่งโทรเลขในทันที กลับบอกให้ส่งในเดือนตุลาคม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เรือ Fram ได้เดินทางไปไกลเกินครึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกแล้ว
แม้จะเป็นคนไม่ตรงไปตรงมานัก แต่ในด้านการวางแผน Amundsen มีความสามารถหาคนเทียบยาก เขาได้ศึกษาแผนที่ของทวีปแอนตาร์กติกา ส่วนที่เรียก Ross Ice Shelf ซึ่ง Scott กับเพื่อนชื่อ Ernest Henry Shackleton ได้วาดไว้ก่อนนั้นไม่นาน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับแผนที่ๆ James Clark Ross ได้วาดไว้เมื่อ 70 ปีก่อน Amundsen ก็ได้พบว่าถ้าเขานำเรือไปจอดที่ Bay of Whales เขาก็จะอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้ยิ่งกว่าที่ McMurdo Sound บนเกาะ James Ross ที่ Scott ตั้งใจจะไปจอดเป็นระยะทาง 97 กิโลเมตร
เรือ Fram ของ Amundsen เดินทางถึง Ross Ice Shelf ในอีก 4 เดือนต่อมา หลังจากที่ได้ออกจาก Madeira แล้ว และเดินทางได้ระยะทาง 6,440 กิโลเมตร เพื่อจอดทอดสมอที่ Bay of Whales จากนั้น Amundsen กับลูกเรือได้ขึ้นบกเพื่อสร้างฐานเสบียง ณ ตำแหน่งที่ห่างจากเรือ 3 กิโลเมตร โดยการใช้สุนัข 8 ตัวลากเลื่อนบรรทุกเสบียง และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสร้างฐานแรกในอีก 6 สัปดาห์ต่อมา ก็ใช้สุนัข 46 ตัวขนเสบียงที่หนัก 10 ตัน ไปสร้างฐานเสบียงที่ 2, 3 และ 4 ณ ตำแหน่งเส้นรุ้ง 80º ,81º และ 82º ใต้ โดยให้ฐานเสบียงสุดท้ายอยู่ห่างจากขั้วโลกใต้ 770 กิโลเมตร
เมื่อถึงวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1911 ฤดูหนาวที่ยาวนานก็ได้มาถึง ดวงอาทิตย์ได้หายไปจากท้องฟ้า และจะไม่กลับมาปรากฏจนกระทั่งถึงปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นสัญญาณบอกให้ Amundsen รีบออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ขั้วโลกใต้ และควรไปให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนสิ้นปี
ในการทำให้แผนการเดินทางสำเร็จโดยไร้อุปสรรค Amundsen ได้ออกกฎระเบียบบังคับให้ทุกคนในคณะต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน และให้ตื่นนอนตั้งแต่เวลา 7.30น. จากนั้นกินอาหารเช้า เริ่มทำงานเวลา 9.00น. พักกินอาหารกลางวันเวลาเที่ยงตรง แล้วทำงานต่อจากเวลาบ่าย 2.00น. จนถึง 5.15น. หลังจากนั้นทุกคนในคณะเดินทางจะมีเวลาส่วนตัว
สำหรับการทำงานที่กระท่อมพักทุกคนต้องทำงานร่วมด้วยช่วยกัน โดยมีหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น ปัดกวาดที่พัก เทเถ้าบุหรี่ จัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ และให้ทุกคนมีตะขอแขวนเสื้อคนละ 2 ตะขอ ใครที่มีเสื้อผ้าจำนวนมากเกินไป Amundsen ก็ให้เก็บเข้ากระเป๋าเดินทางให้หมด และเพื่อให้อากาศในกระท่อมถ่ายเทได้ดี Amundsen ได้ออกกฎห้ามใครซุกอะไรใต้เตียง นอกจากรองเท้าเท่านั้น ฐานเสบียงมีพื้นที่ 15 ตารางเมตร สำหรับใช้เก็บอาหารทั้งของคนและสุนัข รวมถึงเชื้อเพลิงที่จะใช้หุงต้ม และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายด้วย
ส่วนคนที่เป็นพ่อครัวนั้นต้องตื่นนอนตั้งแต่ 6.00น. ก่อนคนอื่นๆ อาหารเช้ามีขนมปัง เค้ก แยม เนยแข็ง และเนยเหลว อาหารกลางวันมีเนื้อแมวน้ำ เนื้อกระป๋อง ผลไม้ ขนมพุดดิ้ง ส่วนอาหารค่ำมี สเต็กเนื้อแมวน้ำ ขนมปัง แยม และเนยแข็ง สำหรับเครื่องดื่มเป็น กาแฟ แต่จะเป็นบรั่นดีก็ได้เฉพาะในวันเทศกาลหรือวันเกิด
การที่ Amundsen ให้ความใส่ใจเรื่องอาหารนี้ก็เพราะ จากประสบการณ์ที่เคยเดินทางไปกับเรือ Belgica ในปี 1897 เพื่อสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติก ภายใต้การนำของกัปตัน Adrien de Gerlache ชาวฝรั่งเศส เขาได้รู้ชัดว่าถ้าลูกเรือขาดผลไม้ ผัก และกินอาหารที่ไม่มีวิตามิน C เลยร่างกายจะเป็นโรคลักกะปิดลักเปิดที่แสนจะทรมาน และอาจทำให้ตายได้
เมื่อทุกคนต่างก็มีหน้าที่ ดังนั้นเวลาได้มาพบกันในเวลาเย็น บรรยากาศสังสรรรค์จึงดี มีการคุยกัน เล่นเกมส์ อ่านหนังสือและเล่นแผ่นเสียงแม้แต่สุนัขเอง Amundsen ก็จัดให้มีเวลาพักผ่อน
แม้จะวางแผนดีสักเพียงใด Amundsen ก็ยังต้องระวังเรื่องอารมณ์ของลูกทีมบางคนที่บางครั้งแสดงอาการพลุ่งพล่าน เพราะขาดแอลกอฮอล์ และนอกจากนี้เขาก็ยังกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า Robert Scott ได้เดินทางถึงตำแหน่งใดแล้ว
ในที่สุด ฤดูหนาวก็ผ่านพ้นไป วันนั้นเป็นวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1911 แต่อุณหภูมิอากาศโดยทั่วไปก็ยังเย็นยะเยือกอยู่ เพื่อความปลอดภัย Amundsen ได้สั่งให้ทุกคนอยู่ในกระท่อมคอยจนอากาศอบอุ่นขึ้น จึงออกเดินทางเมื่อวันที่ 8 กันยายน Amundsen กับลูกทีม 8 คน เลื่อนที่บรรทุกสัมภาระหนัก 6 ตัน และสุนัข 86 ตัว ได้มุ่งหน้าเดินทางไปยังเส้นรุ้งที่ 80º ใต้
การเดินทางใน 3 วันแรกไปได้ไกล 50 กิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างน้อย เพราะอุณหภูมิต่ำมากถึง -56ºC และเมื่อสุนัข 2 ตัวล้มตายเพราะไข้หวัด และเท้าของลูกทีมถูกหิมะกัดจนเดินลำบาก Amundsen จึงแบ่งทีมออกเป็น 2 ทีมเล็กๆ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าทีมแรกเดินทางไม่ถึงขั้วโลกใต้ ทีมที่สองก็อาจนำชัยชนะมาสู่นอร์เวย์ได้
ในวันที่ 20 ตุลาคม เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น และบาดแผลที่เท้าหายดีขึ้น Amundsen, Bjaalad, Wisting, Hassel และ Hanssen พร้อมสุนัข 63 ตัว และเลื่อน 4 ตัว ก็เดินทางถึงฐานเสบียงฐานแรกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และเดินทางต่อไปจนถึงฐานเสบียงฐานสุดท้ายที่ 82º ใต้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน หลังจากที่ได้พัก 2 วัน ก็เดินทางต่อในวันที่ 11 พฤศจิกายน Amundsen เห็นทิวเขาสูงเบื้องหน้าซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุม จึงตั้งชื่อทิวเขานั้นว่า Queen Maud’s Range เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินี Maud แห่งนอร์เวย์ และได้เริ่มเดินข้าม เมื่อข้ามทิวเขาได้ ก็สร้างฐานที่พัก ขณะนี้ Amundsen อยู่ห่างจากขั้วโลกใต้ 550 กิโลเมตร และมีสุนัขเหลืออยู่ 42 ตัว เพราะอีก 30 วัน เขาก็จะถึงขั้วโลกใต้แล้ว เมื่อจำนวนสุนัขมีเกินพอ Amundsen จึงฆ่าสุนัข 24 ตัว เพื่อให้เป็นอาหารของสุนัขที่เหลือ 18 ตัว และเพื่อช่วยลดภาระลากอาหารของสุนัขด้วย
วันที่ 17 พฤศจิกายน ขบวนสำรวจของ Amundsen ได้เดินเท้าขึ้นธารน้ำแข็งชื่อ Axel Heiberg ที่สูง 600 เมตร และถึงยอดของธารน้ำแข็งในอีก 4 วันต่อมา ซึ่งธารน้ำแข็งนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร แล้วเดินทางฝ่าลมหนาวที่พัดแรง และเร็วถึง 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง ท่ามกลางบริเวณที่มีหมอกหนาทึบ
วันที่ 8 ธันวาคม ท้องฟ้าสว่าง คณะสำรวจเดินผ่านเส้นรุ้งที่ 88º 23’ ใต้ และเหลือระยะทางอีก 153 กิโลเมตร ก็จะถึงเป้าหมายแล้ว ความเครียดได้บังเกิดมากขึ้นๆ เพราะสุนัขทั้งรู้สึกเหนื่อยและหิว เท้าของลูกทีมทุกคนต่างก็มีบาดแผลสืบเนื่องจากถูกหิมะกัด และที่สำคัญ คือ ทุกคนเกรงว่า Scott จะเดินทางถึงก่อน
ในที่สุดเมื่อถึงเวลาบ่าย3 โมงของวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1911 คณะสำรวจก็ได้ตะโกนออกมาพร้อมกันว่า “Halt” ขณะนั้นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนเลื่อนระบุว่า พวกเขาได้เดินทางถึงขั้วโลกใต้แล้ว
Amundsen ได้ปักธงชาติของนอร์เวย์ที่ขั้วโลกใต้ และตั้งชื่อที่ราบบริเวณนั้นว่า ที่ราบในกษัตริย์ Haakon ที่ 7 รวมถึงได้ตั้งเต็นท์และเรียกว่า Poleheim (บ้านที่ขั้วโลก) และได้ทิ้งจดหมายฉบับหนึ่งให้ Scott ส่วนอีกฉบับหนึ่งฝาก Scott นำไปถวายกษัตริย์ Haakon ในกรณีที่เขาประสบอันตรายถึงชีวิตในตอนขากลับ
ขบวนคน 5 คนและสุนัข 11 ตัว เดินทางกลับอย่างรวดเร็ว และไม่มีอุปสรรคใดๆ แต่การเดินทางไปยังเกาะ Tasmania นั้นค่อนข้างช้า เพราะ Amundsen กระหายที่จะบอกโลกว่า เขาได้ประสบความสำเร็จแล้ว
ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1912 Amundsen ได้ส่งโทรเลขจากเกาะ Tasmania เพื่อบอกน้องชาย Leon ว่า เขาคือผู้พิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นคนแรก
Roald Amundsen เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1872 ที่เมือง Borge ในนอร์เวย์ ในครอบครัวกัปตันและเจ้าของเรือโดยสารที่แล่นระหว่างเมือง Fredrikstad กับ Sarpsborg เพราะสมาชิกในตระกูลแทบทุกคนเดินเรือ ดังนั้นมารดาของ Amundsen จึงไม่ต้องการให้ Amundsen มีอาชีพเดินเรืออีกคนหนึ่งและกดดันให้ Amundsen เรียนแพทย์ ซึ่ง Amundsen ก็ยินยอมแต่ไม่ยินดี ครั้นเมื่อมารดาเสียชีวิต Amundsen วัย 21 ปี จึงลาออกจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ และสมัครทำงานเป็นกะลาสีเรือ ทำให้มีโอกาสเดินทางและผจญภัยตามที่ใจฝัน และเมื่อได้ศึกษาประวัติการเดินทางข้าม Greenland ของ Fridtjob Nansen ในปี 1888 Amundsen ก็ได้ตัดสินใจใช้ชีวิตจะเป็นนักผจญภัย
ในปี 1897 Amundsen วัย 25 ปี ได้เข้าร่วมทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของเบลเยี่ยม ภายใต้การนำของ Adrien de Gerlache ด้วยเรือ Belgica คณะสำรวจนี้ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนักผจญภัยคณะแรกที่ใช้ชีวิตฤดูหนาวบนทวีปแอนตาร์กติกานั้น
เมื่ออายุ 31 ปี Amundsen ได้เป็นบุคคลแรกที่พบเส้นทาง Northwest Passage (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแคนาดา และเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก) ด้วยเรือล่าวาฬชื่อ Gjoa ในการเดินทางครั้งนั้น Amundsen ได้ศึกษาวิธีดำรงชีวิตชองชนเอสกิโมในฤดูหนาว เช่น วิธีบังคับสุนัขให้ลากเลื่อน และพบว่าเสื้อหนังสัตว์ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายดีกว่าเสื้อขนแกะ
ในปี 1906 เมื่อ Amundsen ได้ทราบข่าวว่า นอร์เวย์ประกาศประเทศเป็นเอกราชโดยไม่ขึ้นกับสวีเดนอีกต่อไป Amundsen ได้ส่งจดหมายทูลกษัตริย์ Haakon ที่ 7 แห่งนอร์เวย์ว่า เขาจะพยายามสร้างชื่อเสียงให้แก่นอร์เวย์ โดยการไปถึงขั้วโลกเหนือเป็นคนแรก แต่เมื่อทราบข่าวว่า Robert Peary ได้ไปถึงเรียบร้อยแล้ว Amundsen จึงตัดสินใจไปยังขั้วโลกใต้แทน
วันที่ 14 ธันวาคม 1911 คณะสำรวจของ Amundsen และสุนัข 16 ตัว ก็ได้เดินทางถึงขั้วโลกใต้ ความสำเร็จนี้เกิดจากการตระเตรียมที่ดี อุปกรณ์เดินทางที่ดีเยี่ยม ความเข้าใจธรรมชาติของสุนัข และการใช้สกีอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Amundsen มีฐานะดีจากการทำธุรกิจเดินเรือให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการไปขั้วโลกใต้แล้ว Amundsen ได้วางแผนจะเดินทางไปขั้วโลกเหนือ เพราะต้องการเป็นจะเป็นบุคคลแรกที่ได้ไปถึงทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่ฤดูหนาวที่โหดร้ายได้ยับยั้งการเดินทางของเขาก่อนจะถึงช่องแคบ Bering เขาจึงเดินทางกลับ
ในปี 1921 Amundsen ได้เลิกธุรกิจเดินเรืออย่างสมบูรณ์ เพราะมีหนี้สินมากมาย จึงถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่เมื่อได้รับโทรศัพท์จาก Lincoln Ellsworth ผู้เป็นมหาเศรษฐีซึ่งในอดีตเคยเรียนห้องเดียวกันและ Ellsworth ต้องการทำงานที่มีความหมาย Amundsen จึงเสนอให้ซื้อเรือเหาะบินไปผ่านขั้วโลกเหนือ เมื่อ Ellsworth เห็นด้วย เรือเหาะ Norge จึงได้บินจาก Spitsbergen ไป Alaska โดยผ่านขั้วโลกเหนือสำเร็จ ขณะเดินทางคนทั้งสองได้สำรวจวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยี (เรือเหาะ) เป็นครั้งแรก
ตามปกติ Amundsen เป็นคนพูดน้อย และมีอารมณ์อ่อนไหว เขาไม่เคยสบายใจที่คนอังกฤษ ไม่ชอบนิสัยของเขาที่ลอบเปลี่ยนแผนการเดินทางโดยไม่บอกคู่ต่อสู้ ในทันทีทันใด จึงทำให้เขาชนะ Scott ในที่สุด และบรรดาเพื่อนๆ ของ Amundsen ต่างก็เห็นพ้องกันว่า ในภาพรวมถึงแม้จะมีชื่อเสียงมาก แต่ Amundsen ก็ไม่เคยมีความสุข เพราะเขาเป็นคนที่หลงตัวเองมากจนเพื่อนร่วมงาน และพี่น้องรับไม่ได้
ในวันที่ 18 มิถุนายน 1928 ได้เกิดอุบัติเหตุเรือเหาะ Italia ตกขณะเดินทางกลับจากขั้วโลกเหนือ ทันทีที่ได้ข่าว Amundsen วัย 55 ปีได้ออกเครื่องบินติดตาม แต่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุตกและจมลงท้องมหาสมุทร Arctic จึงทำให้ไม่มีใครพบศพของเขาตราบจนทุกวันนี้
ณ วันนี้เรารู้จัก ทะเล Amundsen ที่อยู่นอกทวีปแอนตาร์กติกา ภูเขา Amundsen ธารน้ำแข็ง Amundsen และอ่าว Amundsen บนทวีปแอนตาร์กติกา อ่าว Amundsen ในมหาสมุทรอาร์กติก และหลุมอุกกาบาตที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ก็มีชื่อ Amundsen
เป็นยังไงบ้างครับเพื่อนๆ ที่อ่านจนจบ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้บทเรียนจากอามุนเซนมากทีเดียว เขารู้จักการวางแผนที่ดี รู้จักถอยเพื่อตั้งหลักใหม่ เอาใจใส่กระทั่งอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า หรือแม้แต่สุนัข ทั้งหมดที่อามุนเซนได้ก็มาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแต่ไม่ใช่้เพียงผ่านไป เขาได้เก็บเกี่ยวความรู้เอาไว้และประยุกต์ใช้ตามแต่ละเรื่องราว ถึงแม้เขาจะไม่ซื่อตรงเท่าไหร่นักในการต่อสู้ หรือที่เรียกว่าฉลาดแกมโกง แต่เพราะความตั้งใจและเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดจึงทำให้เขาพิชิตขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนครับ
*********************
ขอบคุณ: สุทัศน์ ยกส้าน
: พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)เรียบเรียง
: coolantarctica.comภาพประกอบ