‘อะโพฟิส’ มหันตภัยดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก ...?
ไม่ใช่ชื่อภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องโลกอนาคตตามจินตนาการ ทว่า เป็นดาวเคราะห์น้อยตัวจริงเสียงจริง ที่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยคุกคามโลกในอีกหลายปีข้างหน้า
โลกจะสลาย เพราะดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส...! จริงหรือ? แม้จะมิใช่วันนี้หรือวันพรุ่ง หากก็ยังยากจะระงับความตกใจและตื่นกลัวกับข่าวช็อกโลกนี้
“อะโพฟิส” หรือ 99942 Apophis พบครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 จากการศึกษาในช่วงแรก นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีโอกาสที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะชนโลกด้วยอัตราส่วน 1 ใน 38 หรือประมาณ 2.6 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม รัสตี ชไวการ์ต อดีตนักบินอวกาศของยานอพอลโล 9 ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญนักบินอวกาศ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า โลกอาจจะมีโอกาส 1 ใน 45,000 ที่จะถูกดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสพุ่งเข้าชนในวันที่ 13 เมษายน 2579 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า แต่ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ก็สามารถทำให้วงโคจรของอะโพฟิสเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสจะพุ่งชนโลกนั้นจะมีอยู่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นนักดาราศาสตร์ก็ยังเฝ้ามองสำรวจและศึกษาเพื่อเตรียมตัวรับมือในเวลาที่มันโคจรมาใกล้โลก
ดาวเคราะห์น้อย (Asteroids) วัตถุแข็งขนาดเล็กที่หลงเหลืออยู่เพราะไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ ระหว่างการก่อกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4,600 ล้านปีที่แล้ว ดาวเคราะห์น้อยทั่วไปมีรูปร่างไม่แน่นอน พื้นผิวของมันเต็มไปด้วยหลุมบ่อ โคจรรอบดวงอาทิตย์ พบมากในบริเวณที่เรียกว่า Asteroid Belt หรือแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี
ดาวเคราะห์น้อยจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท จากการสะท้อนแสงอาทิตย์ คือ ดาวเคราะห์น้อยที่สะท้อนแสงได้น้อยมาก องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์บอน ดาวเคราะห์น้อยที่สะท้อนแสงได้ปานกลาง องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลิกา ดาวเคราะห์น้อยที่สะท้อนแสงได้มากที่สุด องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโลหะ ดาวเคราะห์ประเภทแรกนั้นมีจำนวนมากที่สุด
ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบและตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยไว้ทั้งหมดราว 20,000 ดวง ในจำนวนนี้เป็นดาวดวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 100 กิโลเมตร อยู่ราว 200 ดวง ที่เหลือเป็นมีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อยดวงที่ใหญ่ที่สุดคือ ซีเรส (Ceres) ที่มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร มีดาวเคราะห์น้อยหลายดวงที่สามารถโคจรมาพบกับโลกได้ในอนาคต จึงถูกเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near Earth Asteroids : NEAs)
ผลกระทบจากดาวเคราะห์น้อยชนกับโลกนั้นอาจเทียบเท่ากับแรงระเบิดปรมาณู ถ้าเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ก็สามารถทำให้โลกระเบิดเป็นจุลได้ทันที จากการศึกษาพบว่า ผลของดาวเคราะห์น้อยชนโลกนั้นเคยทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์เกือบหมดสิ้น เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ความรุนแรงครั้งนั้นทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ถ้าโลกถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 กิโลเมตร พุ่งชนด้วยความเร็ว 70,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทําให้เกิดหลุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 กิโลเมตร และความรุนแรงจะเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดไฮโดรเจน 10,000 ลูก ทําให้มนุษย์เสียชีวิตทันที 5,000 ล้านคน
สำหรับ อะโพฟิส เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 390 เมตร การพุ่งชนโลกของอะโพฟิสมีอานุภาพทำลายมากกว่าการระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาถึง 100,000 เท่า!!!
นักดาราศาสตร์พบว่า ความเป็นไปได้ที่โลกมีโอกาสถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ชนในทุก 50-100 ล้านปี ถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดกลางชนทุก 500,000 ปี และดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กชนทุก 100,000 ปี และดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตร มีโอกาสชนโลกทุก 100 ปี
ท้ายสุด จขกท. อยากจะเสริมว่าโครงการอวกาศของหลายๆ ประเทศกำลังพยายามหาทางป้องกันอยู่ แต่ไม่ใช่้วิธีแบบหนังเรื่องอมาเกดอนแน่นอน เพราะถ้าเอาระเบิดไปฝังที่ดาวเคราะห์น้อย มันจะทำให้เกิดการแตกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งยิ่งทำให้โลกหมดหนทางป้องกัน เพราะเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นจะกระจายพุ่งเข้าสู่โลกแบบไร้ทิศทางทีเดียว เท่าที่จำได้องค์การอวกาศฝรั่งเศษคิดว่าวิธีที่เหมาะที่สุดคือการใช้ยานเข้ากระแทกให้ดาวเคราะห์น้อยอะโพพิสหลุดออกจากวงโคจรที่จะพุ่งสู่โลก ทั้งรัสเซียและอเมริกาก็เห็นด้วยในแนวคิดนี้และจะร่วมมือกันทั่วโลกในการป้องกันครับ ขออภัยถ้าข้อความที่กล่าวตอนท้ายผิดพลาด ขอบคุณเพื่อนๆ โพสจังครับที่อ่าน