คุณค่าการเทศน์มหาชาติในล้านนา
การเทศมหาชาติ มีความเชื่อว่าหากผู้ได้ได้ฟังการเทศน์นี้ครบทุกกัณฑ์จะก่อให้เกิดเนื้อนาบุญอันใหญ่หลวง คนโบราณมักจะแสวงเข้าหาวัด ใกล้ชิดกับพระธรรมคำสอน โดยต้องการไปสดับรับฟังเสียงที่กังวาลใสของพระภิกษุในการเทศน์ ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการดึงดูดศรัทธาญาติโยมเข้าหาพระ
ต่างจากปัจจุบัน ซึ่งมีเสียงปลุกกิเลสเร้าโสตประสาทมากมาย จนทำให้มนุษย์หลงระเริงไปในบ่วงกาม ออกห่างพระศาสนา เสพทั้งรูปรสกลิ่นเสียง โดยมิได้ยกย่องระดับจิตใจให้เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่กลับฉุดมนุษย์ให้ถลำมัวเมา ยิ่งเสียกว่าสัตว์ที่ใช้สัณชาติญาณในการดำรงชีวิตเสียอีก...
การเทศน์มหาชาติล้านนาเป็นงานวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสั่งสอนศีลธรรม จริยธรรมให้กับสังคมล้านนา การเทศน์มหาชาติล้านนานั้นได้รับอิทธิพลมาจากกรุงสุโขทัย แล้วซึมซับเข้าสู่วิถีชีวิตของชาวล้านนา โดยผสมผสานกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ จนเกดการสร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรม จนมีนักปราชญ์ล้านนาเป็นจำนวนมากได้แต่งวรรณกรรมเรื่องนี้แบ่งออกเป็น ๒ สำนวน คือ สำนวนร้อยแก้วและสำนวนร้อยกรอง จากการศึกษาพบว่าสำนวนร้อยแก้วพบมากอยู่ในใบลาน พับสา เขียรหรือจารด้วยอักษรธรรมล้านนา ส่วนสำนวนร้อยกรองพบมหาชาติล้านนาในหนังสือประมวลรายชื่อคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อย ผลจากการสำรวจสำนวนมหาชาติในล้านนา หากคัดสำนวนที่ซ้ำกันออกจะได้มหาชาติถึง ๑๒๒ สำนวน และบางสำนวนก็มีครบถึง ๑๓ กัณฑ์
ส่วนทำนองการเทศน์มหาชาติล้านนานั้นพบว่า แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือทำนองแบบดั้งเดิมและทำนองแบบประยุกต์ทั้ง ๒ ลักษณะ จะเดินทำนองการเทศน์มีเทคนิคที่สำคัญคือการเคลื่อนหรือเดินทำนองโดยใช้เทคนิค ตั้ง เทียว เหลียว วาง ยั้ง ขึ้น หว้าย ก่าย ยั้ง จะใช้วิธีการเทศน์แบบธรรมวัตรเป็นพื้นฐานและใช้ระบำเป็นท่วงทำนองของการเทศน์ซึ่งระบำต่างๆ แต่ละระบำต้องมีความเหมาะสมกับสำเนียงภาษาแต่ละพื้นที่ในล้านนาที่มีความแตกต่างกันไป ด้านคุณค่าการเทศน์มหาชาติล้านนาพบว่า ผู้แต่งได้นำหลักธรรมสอดแทรกในเนื้อธรรมของมหาชาติล้านนาโดยผสมผสานเชื่อมโยงกับสภาพวิถีชีวิต จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาวล้านนาได้อย่างกลมกลืนอันสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของสังคมล้านนาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอธิบายสภาพสังคมและพฤติกรรมของชาวล้านนาโดยที่ผู้แต่งได้ขยายใจความของมหาชาติล้านนาให้มีความวิจิตรพิสดาร พรรณาด้วยลีลาโวหารและรสทางวรรณกรรมต่างๆ คือ รสรัก รสโศก รสหรรษา รสโกรธ รสเกลียด รสกล้าหาญ รสหวาดกลัว รสตื่นเต้น รสสงบ
ประเพณีการตั้งธรรมหลวงในปัจจุบันนี้จากการศึกษาพบว่า การจัดตั้งธรรมหลวงเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ใช้เวลาลดน้อยลงไปกว่าเดิม การเทศน์ในแต่ละกัณฑ์นั้น เนื้อธรรมจะถูกตัดให้มีเนื้อหาที่กระชับลงจะเน้นความไพเราะของท่วงทำนอง ส่วนท่วงทำนองก็มีความหลากหลายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาสาระรูปแบบเดิมเอาไว้ ที่สำคัญรูปแบบพิธีกรรมการจัดตกแต่งสถานที่ตั้งธรรมหลวง จะผสมผสานการจัดแบบดั้งเดิมมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ทั้งยังได้นำเอากิจกรรมอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมเข้ามาเสริมเพือ่ที่จะดึงดูดความสนใจให้กับผู้ร่วมงานมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นการปรับกลวิธีให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างมีความเหมาะสม
การเทศน์มหาชาติล้านนา จึงก่อให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมล้านนาในการสั่งสอนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักการให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา โดยมีพระเวสสันดรเป็นแบบอย่างการประพฤติ ปฏิบัติเป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ทำให้สังคมล้านนามีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นคุณค่าด้านต่างๆ คือ ด้านวรรณกรรม ด้านภาษา ด้านสุนทรียะ ด้านจริยธรรม ด้านพฤกษา ด้านเภสัช ด้านวัฒนธรรมและด้านศิลปกรรม จนผู้ฟังเทศน์มหาชาติมีอุนิสัยจิตใจที่อ่อนโยนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและมีความยินดีในการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามพระจริยาของพระเวสสันดร
เครดิต:
http://www.mcu.ac.th/En/thesisdetails.php?thesis=255041