แมง4หู5ตา ตำนานสัตว์ประหลาด ตำนานพันปีมาแล้ว
แมงสี่หูห้าตา
วรรณกรรมจากคัมภีร์ใบลานของล้านนา และจากนิทานมุขปาฐะที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา มีจำนวนมากมายที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและได้สาระจากคติธรรมคำสอนหรือข้อคิดที่โบราณาจารย์ได้สอดแทรกไว้ นิทานเรื่อง "แมงสี่หูห้าตา" เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่แพร่หลายมาก เป็นที่รู้จักกันดี ชาวบ้านที่เล่ามักบอกว่าเป็นเรื่องที่แสดงเหตุที่มาว่าทำไมผู้ชายจึงรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง
คำว่า "แมง" นอกจากจะใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์เล็ก ๆ แล้ว ยังใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์ใหญ่ ๆ ในเชิงตลกขบขันได้อีกด้วย "แมงสี่หูห้าตา" เป็นสัตว์ใหญ่คล้ายหมี มีหู ๔ หู มีตา ๕ ตา ในความเป็นจริงไม่ปรากฏสัตว์ประเภทนี้ในโลก แต่มีเรื่องเล่าในล้านนามาแต่โบราณกาล และมีการบันทึกในรูปแบบของวรรณกรรมลายลักษณ์ในเอกสารประเภทใบลาน ซึ่งมีปรากฏให้พบเห็นตามวัดโดยทั่วไป ตัวอย่างของเรื่องนี้ได้เนื้อความจากคัมภีร์ใบลานชื่อ "ธัมม์สี่หูห้าตา" ของวัดแช่ช้าง ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนา จำนวน ๑ ผูก (๖๑ หน้าลาน) ผู้จารคือ "พิมมสารภิกขุ" เมื่อจุลศักราช ๑๒๗๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗) ความในคัมภีร์ดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องแมงสี่หูห้าตาโดยสังเขปดังนี้
มีเมือง ๆ หนึ่งชื่อเมือง "พันธุมติ" กษัตริย์ผู้ครองเมืองชื่อ "ท้าวพันธุมติ" ซึ่งมีมเหสีอยู่ ๗ องค์ ทิศเหนือของเมืองนี้มีครอบครัวหนึ่งมีสามพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ สองสามีภรรยาเป็นยาจกมีบุตรชายคนเดียว เมื่อบุตรมีอายุ ๗ ขวบ มารดาสิ้นชีวิตลง ต่อมาเมื่ออายุ ๑๑ ขวบบิดาก็สิ้นชีวิต ก่อนสิ้นใจบิดาได้สั่งเสียว่าให้เอาศพฝังไว้ใกล้ ๆ กระท่อม นานเข้าศีรษะของบิดาก็จะหลุดให้นำเอาศีรษะไปสักการะบูชาทุกค่ำเช้าถ้าอายุครบ ๑๖ ปี ให้ผูกศีรษะนั้นลากไปสู่นครพันธุมติ ซึ่งมีภูเขาอยู่ หากศีรษะไปติดข้องที่ใดให้ทำแร้วเป็นกับดักสัตว์ที่นั้น
เมื่อบิดาสิ้นชีวิตบุตรชายได้ฝังศพไว้ใกล้กระท่อมแล้วไปขออาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นนายจ่าบ้าน โดยอาศัยเลี้ยงวัวหาฟืนให้เป็นสิ่งตอบแทน จนอายุได้ ๑๖ ปี จึงได้ทำตามที่บิดาสั่งไว้โดยลากศีรษะบิดาไปสู่นครพันธุมติจนไปถึงภูเขา เมื่อลากศีรษะขึ้นภูเขาไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่งศีรษะไปติดข้องอยู่ปากถ้ำ จึงทำแร้วดักสัตว์ใหญ่ ณ ที่นั้นแล้วกลับบ้าน
รุ่งเช้าเขาไปดูแร้วที่ดักไว้ ปรากฏว่ามีสัตว์ใหญ่ติดอยู่สัตว์นั้นรูปร่างคล้ายหมีมีหูสี่หู มีดวงตาห้าดวง เขาได้ตัดเอาเถาวัลย์ผูกสัตว์นั้นนำกลับมาบ้าน แล้วหาสิ่งกำบังอย่างมิดชิด จากนั้นไปหาหญ้าและใบไม้มาให้กิน สัตว์สี่หูห้าตาไม่ยอมกินเอาแต่นอนหลับ ตกกลางคืนเขาก่อไฟผิง บังเอิญสะเก็ดถ่านไฟกระเด็นออกนอกกองไฟ แมงสี่หูห้าตาก็กินถ่านไฟเป็นอาหาร เมื่อเขาเห็นดังนั้นจึงหาฟืนมาเผาแล้วเอาถ่านไฟให้กินเป็นจำนวนมาก รุ่งเช้าแมงสี่หูห้าตาถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ
เมื่อพบว่าแมงสี่หูห้าตากินถ่านไฟแล้วถ่ายเป็นทอง เขาจึงหาถ่านไฟให้กินเรื่อยๆ แมงสี่หูห้าตาก็ถ่ายออกมาเป็นทองคำจำนวนมาก เขานำทองที่ได้ไปฝังไว้ทุกวัน
กล่าวถึงท้าวพันธุมติผู้ครองนครมีราชธิดาองค์หนึ่งชื่อ "สิมมา" อายุได้ ๑๖ ปี มีรูปโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของบรรดากษัตริย์หัวเมืองต่างๆ และมีหลายเมืองต่างส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อขอราชธิดาไปเป็นมเหสี ท้าวพันธุมติรู้สึกลำบากใจ จึงหาทางออกโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าหากเจ้าเมืองใดสามารถสร้างลินคำ (รางน้ำทองคำ) ตั้งแต่เมืองของตนมาจนถึงวังของราชธิดาได้ก็จะยกราชธิดาให้เจ้าเมืองนั้น เงื่อนไขนี้ไม่มีเจ้าเมืองใดสามารถทำได้
ฝ่ายชายกำพร้าผู้ยากได้ทราบข่าว จึงไปขอให้ลุงไปทูลราชธิดาของท้าวพันธุมติ ส่วนลุงก็ได้แต่เวทนา วันหนึ่งมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อกลุ่มหนึ่งมาพักแรมที่บ้านชายนั้น เขาจึงได้ว่าจ้างให้พ่อค้าเหล่านั้นสร้างลินคำตั้งแต่บ้านตนจนไปถึงวังของราชธิดาสิมมาจนสำเร็จภายในคืนเดียว
รุ่งเช้าท้าวพันธุมติเห็นลินคำเป็นอัศจรรย์ ก็ให้เสนาอำมาตย์ติดตามไปดู เมื่อพบว่าเจ้าของเป็นใครจึงจัดขบวนแห่ไปรับเอาชายเข็ญใจไปเป็นราชบุตรเขย เมื่ออภิเษกให้เป็นคู่ครองราชธิดาสิมมาแล้ว จึงไต่ถามว่าได้ทองคำมาอย่างไร เขาจึงเล่าเรื่องแมงสี่หูห้าตาให้ฟัง ท้าวพันธุมติจึงให้เสนาไปขุดทองในสวนมาไว้ในพระคลังให้หมดและให้ราชบุตรเขยไปนำแมงสี่หูห้าตามา เขาก็ไปจูงเอามาแต่เมื่อจูงมาชาวเมืองต่างมามุงดู แมงสี่หูห้าตาก็ตกใจวิ่งหนีกลับไปอยู่ถ้ำตามเดิม ท้าวพันธุมติก็ให้ตามเอามาอีก คราวนี้ชาวเมืองต่างมามุงดูเป็นจำนวนมากขึ้น แมงสี่หูห้าตาก็ยิ่งตกใจวิ่งหนีไปอีกท้าวพันธุมติเห็นดังนั้นจึงวิ่งไล่ตามจับจนเลยเข้าไปในถ้ำ ครั้งนี้หินถล่มลงปิดปากถ้ำไว้ โดยที่เสนาวิ่งตามไม่ทันทำให้ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำกับแมงสี่หูห้าตา
ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายวันเพราะไม่มีทางออก มีเพียงรูเล็ก ๆ โดยใช้ตาข้างเดียวแนบส่องดูภายนอกได้เท่านั้น ท้าวพันธุมติคิดในใจว่าตนคงต้องตายในถ้ำนี้แน่นอน คงไม่มีโอกาสอยู่กับมเหสีอีก จึงสั่งเสนาไปตามมเหสีทั้งเจ็ดมา เมื่อมเหสีมาแล้วพระองค์จึงขอให้เปิดผ้าถุงให้ดูเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตาย มเหสีตั้งแต่ลำดับที่ ๑ ถึง ๖ ไม่ยอมเปิดผ้าถุงเพราะความอาย แต่มเหสีองค์ที่เจ็ดรู้สึกเห็นใจ จึงยอมเปิดผ้าถุงให้ดู ทันใดนั้นถ้ำอดหัวเราะไม่ได้ก็ระเบิดหัวเราะออกมาปากถ้ำจึงเปิด พระยาพันธุมติได้โอกาสจึงวิ่งหนีออกมาได้
เมื่อกลับมาถึงเมือง ท้าวพันธุมติได้อภิเษกให้บุตรเขยเป็นกษัตริย์ครองเมืองแทน จนถึงอายุขัยพระองค์ก็ถึงแก่พิราลัยบุตรเขยผู้เป็นกษัตริย์ได้ครองเมืองโดยธรรม และได้สร้างโรงทานถึง ๖ หลัง เพื่อให้ทานแก่ยาจกคนยากไร้ จากนั้นได้เทศนาสั่งสอนเสนาอำมาตย์และชาวเมืองให้ตั้งอยู่ในธรรมมีมรรคแปดเป็นต้น ชาวเมืองพันธุมติก็ดำรงชีพตามวิสัยอย่างสงบสุข
เรื่องราวที่มเหสีองค์เล็กเปิดผ้าถุงให้ท้าวพันธุมติดูเป็นเหตุให้สามีทั้งหลายรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง และถ้ำดังกล่าวได้ชื่อว่า "ถ้ำยุบ" ตั้งแต่นั้นมา ความตอนนี้ในคัมภีร์กล่าวว่า "ส่วนถ้ำอันนั้น ก็ได้ชื่อว่าถ้ำยุบว่าอั้น ตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล ส่วนท้าวพระยาทังหลายก็ลวดรักเมียปลายเหลือกว่าเมียเค้าตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล"
ในแง่ของความเป็นมาเรื่อง "แมงสี่หูห้าตา" นี้มีข้อน่าสังเกตสองประการ ประการแรกอาจเป็นนิทานชาวบ้านที่เรียกว่า "เจี้ย" เล่าสืบต่อกันมาจนได้รับความนิยม ต่อมามีนักศาสนานำมาเขียนผูกโยงกับคำสอนทางศาสนาเพื่อดึงดูดความสนใจ ประการที่สองมีการเขียนลงในใบลานมาก่อน แล้วพระนำมาเทศนาธรรม ชาวบ้านก็ได้จดจำมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งสองประการนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายทอดทั้งโดยมุขปาฐะและลายลักษณ์ในสังคมพื้นบ้านล้านนามาช้านาน
ความประทับใจของชาวล้านนาต่อนิทานเรื่องนี้ ทำให้ได้มีการสร้างรูปปั้นของแมงสี่หูห้าตาไว้ที่วัดดอยถ้ำเขาควาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และชื่อเมือง "พันธุมติ" ก็เกี่ยวโยงกับชื่อเก่าแก่ของเมืองเชียงรายด้วย
แมงสี่หูห้าตา เป็นเรื่องเล่าของทางเชียงราย ลักษณะจะเหมือนกับควาย มีรูปปั้นอยู่ตรงทางขึ้นดอยเขาควาย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าแถว ๆ นั้น เคยมีแมงสี่หูห้าตาปรากฎอยู่ แต่ไม่ใช่มอมที่จะกล่าวถึงนี้นะจ๊ะ...
วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง
มอม เป็นสัตว์ในจินตนาการของชาวล้านนา มักพบเป็นรูปประดับตามสิ่งก่อสร้างทางศาสนา มอมมีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต แต่ “สล่า” หรือ “ช่างปั้น”บางท่านก็ปั้นมอมดูคล้ายตุ๊กแก บางกิริยากระเดียดไปทางค่างก็มี
ความคิดเรื่องมอมมีมาแต่ไหน จากอะไรก็ไม่รู้ ถามผู้รู้ก็ยังไม่ได้ความที่กระจ่างชัด ค้นจากเอกสารก็ยังไม่เจอที่มา พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม ผู้รู้ระดับปราชญ์ล้านนาท่านหนึ่ง สันนิษฐานว่า มอมน่าจะเป็นสัตว์พาหนะของปัชชุนนเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา
วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
เพราะว่ามีรูปปูนปั้นสวยหวานหยดย้อย ที่หอไตรวัดพระสิงห์ เป็นรูปเทวดายืนบนหลังมอม นอกจากนี้เวลาฟ้าฝนทิ้งร้าง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนล้านนาแต่เดิมจะแห่มอมขอฝน โดยจะเอามอมที่เป็นไม้แกะสลัก หรือมอมที่เป็นดินเผาเข้าพิธีในการแห่
แต่ต่อมาเปลี่ยนจาก “มอม” เป็น “แมว” เอาแมวจริง ๆ มาเขียนหน้าทาปาก อาจให้ใส่สายเดี่ยวโชว์อกอวบอึ๋มล่อไอ้เข้ก็ได้ จับแมวใส่ในตะกร้าแล้วมัดปากให้แน่น มัดปากตะกร้านะจ๊ะ ไม่ได้มัดปากแมว แมวมันก็ร้องแงว ๆ ไปตลอดทาง คนก็เอาน้ำมาสาดแมวเป็นที่น่าทุเรศเวทนา
ความคิดเรื่องมอม แพร่หลายกระจายไปหลายถิ่นในเขตวัฒนธรรมล้านนา เคยพบในวรรณกรรมไทลื้อสิบสองปันนา เคยพบลายสักรูปมอมบนผิวพ่อเฒ่าชาวไทใหญ่