ตำนาน แม่ย่านาง
แม่ย่านาง ตามความเชื่อมาแต่โบราณถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์ประจำพาหนะในการเดินทาง เช่น รถ เรือ ในปัจจุบันแม้แต่เครื่องบินขนส่งผู้โดยสารบางเครื่อง ก็มีองค์เทพแม่ย่านางตั้งอยุ่ด้วย เพื่อเป็นศิริมงคลและโชคโลภความปลอดภัยในการเดินทาง และให้คุณให้โทษแก่ผู้ขับขี่โดยสารได้
ตำนาน ความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางนั้นมีอยู่ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่นๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้ง มีเลื่อยสองคมปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น
จาก นั้น ประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธ์แล้วออกอุบาย ให้กุ้งใช้อาวุธติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมื่อจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตาย กลายเป็นอาหารส่วนหัวกุ้งแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งเอาไปกิน ด้วยเหตุนี้ เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนขอให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อสงสารชาวเรือ จึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละสิบพับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่ เมื่อได้รับของถวายเจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้งแปดทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ ตัดสินปัญหา พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้ มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้ม ซ้ายขวา ถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเภาได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมากระทั่งทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ แม่ย่านาง จึงได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทพ ผู้พิทักษ์ปกป้องคุ้มครอง พาหนะทุกประเภท ทั้งเรือ รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ให้คุณให้โทษได้ ผู้ขับขี่จึงมีความเคารพยำเกรงต่อแม่ย่านาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในสมัยที่การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ ประชาชนนิยมโดยสารเรือเป็นหลัก ก็มีการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ โดยเฉพาะเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก่อนออกแล่นเรือจริงต้องมีการนำเครื่องบูชามาทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล เข้าใจว่าเพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางที่สิงสถิตอยู่กับเรือแต่ละลำได้รับรู้และ ปกปักรักษาอย่าให้เกิดอุบัติเหตุเภทภัยใดๆ เรือชาวบ้านก็มีการบวงสรวงเช่นกัน ผู้ที่มีความศรัทธามาก นิยมนำผ้าสามสีมาผูกที่หัวเรือ เพื่อแสดงความเคารพแก่แม่ย่านางและเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่เรือนั้นๆ
ชาวประมงมีความเชื่อว่าแม่ย่านางจะคุ้มครองทุกคนให้ปลอดภัยในการเดินเรือและ ช่วยให้หาปลาได้มากๆ ดังนั้น ก่อนออกเรือจึงต้องมีการกราบไหว้แม่ย่านางทุกครั้งและเซ่นสังเวยแม่ย่านาง ก่อนที่จะนำเรือออกทำกิจการต่างๆ สังคมชาวประมงยังยึดมั่นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น การปฏิบัติตามความเชื่อใดทำให้แม่ย่านางพอใจต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่ สุด ไม่เช่นนั้นแม่ย่านางอาจจะไม่พอใจและจะนำความพินาศมาสู่เรือได้ เช่น
1.ไม่ทะเลาะกันขณะอยู่ในเรือ
2.ไม่ทำเรือสกปรก
3.ไม่ดื่มสุราก่อนออกจากเรือ
4.ไม่เหยียบโขนเรือ
5.ไม่นำผู้หญิงมาร่วมเพศในเรือ
ทุกวันพระ 15 ค่ำ วันสงกรานต์ และวันตรุษจีน ไต้ก๋งจะเซ่นไหว้แม่ย่านางในตอนเช้า เครื่องเซ่นได้แก่ หัวหมู ไก่ ขนมเปี๊ยะ ขนมถ้วยฟู ผลไม้ต่าง ๆ ดอกไม้หนึ่งกำ ธูปเก้าดอก และต้องจุดประทัดบอกกล่าวด้วย
การไหว้แม่ย่านางสำหรับผู้ใช้รถยนต์ >> https://board.postjung.com/920023.html