การขอโทษ และ การทำดีเพื่อไถ่โทษ Undoing ในความสัมพันธ์
การขอโทษ คือ การยอมรับว่าเราทำผิด การขอโทษเป็นก้าวแรกของ ‘การยอมรับ’ ว่าเราผิด ซึ่งถ้าไม่ยอมรับก่อน การจะแก้ไขอันเป็นขั้นตอนต่อไปก็น่าจะตามมาได้ยาก
ความสำคัญของการขอโทษ คือ ‘การแสดงความรับรู้’ ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิด ผิดต่อความคาดหวัง ผิดต่อความถูกต้อง ผิดต่อความเหมาะสม การขอโทษเป็นการ ‘แสดงความรับผิดชอบ’ และ ‘ร้องขอ’ การให้อภัย เป็นเจตนาที่จะเริ่มซ่อมแซมความสัมพันธ์ หรือ ฟื้นฟูจุดยืนความผิดที่คน ๆ หนึ่งได้พลาดพลั้งกระทำลงไป
แกนสำคัญที่สุดของการขอโทษ คือ ‘ความจริงใจ’ ไม่ได้ขอโทษส่ง ๆ แสดงความรับผิดชอบอย่างสุดซึ้งและจริงใจ เป็นการแสดงความขอโทษและแสดงรู้สึกผิดออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ
Aaron Lazare อดีตคณบดีของ University of Massachusetts Medical School ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการขอโทษบอกว่า การขอโทษเป็นการกระทำที่มีความล้ำลึก และลึกซึ้งที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในแง่ของการขอโทษกัน Lazare บอกว่าแกนกลางสำคัญของ ‘การขอโทษ’ ที่จริงใจและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ ‘เวลา’ ที่คำขอโทษนั้น ๆ ถูกเอ่ยออกมา
ข้อผิดพลาดสำคัญ ในความสัมพันธ์ของคนที่ใกล้ชิดกัน คือ ‘ขอโทษเร็วไป’ ในการศึกษา บอกว่า บางทีเราเร่งร้อนเอ่ยคำขอโทษไปหน่อย การขอโทษทันทีจึงเหมือนเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบสนองที่เราเองยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทบทวน ยังไม่ได้คิดเลยว่าเราทำอะไรผิด เราก่อปัญหาอะไรไปบ้าง ยังไม่ทันได้ตริตรองอะไรดีพอว่าเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ไขยังไง สักแต่ว่าขอโทษส่ง ๆ ไปก่อน
ข้อควรระวัง คำแนะนำต่อความผิดและการขอโทษในเรื่องใหญ่ ๆ ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการขอโทษ บอกว่า การขอโทษที่ล่าช้าบางครั้งไม่ใช่เรื่องแย่อะไร บางครั้งการเลื่อนเวลาขอโทษออกไป ให้ผลดีกว่า การขอโทษแบบฉับพลันทันที
‘การไถ่โทษ’ หรือ Undoing คอนเซปต์โดย ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ และต่อยอดโดย อันนา ฟรอยด์ ลูกสาวผู้เป็นนักจิตวิเคราะห์ ใช้อธิบาย การทำดีเพื่อลบล้าง กลบฝัง หรือชดเชยความผิดให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง มักมาในรูปแบบของการให้ของขวัญราคาแพง โอนเงินให้ เอาอกเอาใจ พาไปเที่ยว หรือทำทุกอย่างที่ขอ
พฤติกรรม Undoing ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเป็นเพียงการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจถูกมองว่าเป็นการสำนึกผิดที่น่าเห็นใจ ควรค่าแก่การให้อภัย
หลายครั้งพฤติกรรมนี้ก็ถูกฟอกขาว ทำให้ดูเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ เป็นการกระทำที่แทนคำขอโทษ หรือ การปรับปรุงแก้ไขอย่างตรงจุด ในบางกรณีไม่อาจทดแทนกันได้
ความอันตรายของการใช้วิธีทำดีไถ่โทษ เมื่อนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนติดนิสัย จะสะท้อนให้เห็นว่า
- บางคนทำดีชดเชย เพียงเพราะอยากหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของตัวเอง
- ลบล้างความรู้สึกผิดในใจ
- คลายความกลัวที่จะยอมรับบทลงโทษหรือผลที่จะตามมา อย่างเช่น กลัวถูกต่อว่า ชวนทะเลาะ บอกเลิก ขอหย่า หรือกลัวว่าจะต้องอยู่คนเดียว
การทำดีไถ่โทษอาจนำไปสู่การกึ่ง ๆ กดดันให้อีกฝ่ายให้อภัย และไม่กล้า ไม่มีสิทธิต่อว่าอีก เพราะ “ตนได้เปลี่ยนไปแล้ว” หรือ “ได้ชดเชยให้แล้ว” หากอีกฝ่ายยังคงรู้สึกโกรธ น้อยใจ รื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆต่อไป กลายเป็นท็อกซิกในความสัมพันธ์
การพยายามทำดีเพื่อไถ่โทษนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแย่ไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ การทำดีเพื่อไถ่โทษ ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะเข้ามาอุดรูรั่วของปัญหา หรือใช้ประคองความสัมพันธ์ให้ไปต่อ ต้องประกอบไปกับการยอมรับว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ท็อกซิก การแสดงออก หรือ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเราทำให้อีกฝ่ายเสียใจ ขอคำยืนยันจากเขาเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจสถานการณ์ตรงกัน ไม่มีใครคิดไปเอง ยอมรับอย่างจริงใจว่า เกิดความเสียหายจริง ทำข้อตกลงว่าจะปรับปรุงแก้ไขร่วมกันอย่างไร และยอมรับบทลงโทษที่เป็นเหตุเป็นผล

















