"ปล่อยให้เขาเป็นไป" Let Them Theory เมื่อเรา ‘เข้าใจตัวเอง’ มากพอ ใครจะคิดอะไรก็คิด อยากเข้าใจผิดก็ช่าง ไม่ต้องอธิบายตัวเองให้เหนื่อย
แนวคิด ได้รับความนิยม โดย ‘เมล ร็อบบิ้นส์ (Mel Robbins)’ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ กูรูด้านการพัฒนาตนเองชาวอเมริกัน มีผู้ติดตามหลายล้านคนใน Instagram ร็อบบิ้นส์ ออกหนังสือ “The Let Them Theory” ในปี 2024 ติดอันดับ New York Times Bestseller
หลักคิดของ Let Them Theory
- ถ้ามีคนขับรถปาดหน้าคุณบนถนน? ปล่อยให้เขาเป็นไป!
- เพื่อนของคุณยังคบกับแฟนที่ไม่เอาไหน? ปล่อยให้เขาเป็นไป!
- ทุกครั้งที่คุณกำลังคิดวนเวียนถึงพฤติกรรมของคนอื่นจงจำไว้ว่า ปล่อยให้เขาเป็นไป!
การเลิกพยายามควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นมีประโยชน์มาก เมื่อเราไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้อง 'แก้ไข' หรือ 'ช่วยเหลือ' คนอื่น เราจะสามารถยอมรับพวกเขาในแบบที่พวกเขาเป็นได้ง่ายขึ้น
วิธีฮีลใจเชิงจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Let Them Theory’ อาจเป็นยาชั้นดี ช่วยให้คนที่กำลังท้อกับการพยายามอยากจะให้คนอื่นพอใจอยู่ตลอดเวลา กลับมาเป็นสุขและเหนื่อยใจน้อยลงได้
“Let Them Theory แสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของผู้อื่นได้ และเมื่อเราพูดว่า ‘Let Them’ เราจะยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิด หรือการกระทำของผู้อื่น และเราก็จะไม่สามารถโน้มน้าวเขาให้ทำตามความคาดหวังของเราได้”
ดร. Terri Orbuch นักบำบัดและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ได้กล่าวไว้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ว่าให้ยอมไปหมดทุกอย่าง เพราะวิธีนี้เป็นเพียงวิธีที่ชวนให้เราทวนถามตัวเองว่าอะไรที่ควบคุมได้และไม่ได้ต่างหาก
อย่างเช่น ถ้าเราโดนใส่ร้ายป้ายสี ทั้งที่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และเราได้ออกมาอธิบายแล้ว แต่คนก็ยังไม่เชื่อ นั่นแปลว่า เราไม่สามารถควบคุมความคิดเขาได้ การเซฟใจแบบ Let Them คือ ปล่อยให้เขาเชื่อแบบนั้น เพราะเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่า “ตัวเราเป็นอย่างไร”
ถ้าคุณโดนแฟนนอกใจ คุณก็ไม่ต้องโทษตัวเอง หรือเชื่อว่า I can fix him! เขาเปลี่ยนได้ เพราะฉันสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ วิธีการของ Let Them คือ ปล่อยไปเลย ถ้าเขาจะนอกใจ ก็ให้นอกใจไป คุณแค่หันมาโฟกัส ‘ความรู้สึกตัวเอง’ ว่าต้องการอะไรกันแน่ วิธีนี้จะทำให้เราเห็นธาตุแท้ของคนคนหนึ่งได้ไม่น้อย ช่วยให้เราไม่กล่าวโทษตัวเอง ว่าเป็นเพราะอะไรเขาถึงทำผิดกับเรา อาจช่วยให้บางคนเดินออกจากความสัมพันธ์ท็อกซิกได้เร็ว เพราะเรารู้ว่าเราไม่ได้ผิด และไม่คู่ควรกับความสัมพันธ์บั่นทอนจิตใจแบบนี้
ในแง่การทำงาน การทำงานหนักหน่วงจนไม่มี Work-Life Balance เป็นเรื่องที่บริษัทต้องการ แต่ร่างกายเราไม่ไหว จะตุยเย่อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นจะมองว่าเราไม่สู้งานหรือเปล่า? ถ้าเราไม่ค่อยได้รับคำชมจากหัวหน้า แปลว่าเราทำได้ไม่ดีหรือเปล่า? เมื่อเราทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถแล้วก็ Let Them คือ ปล่อยความคิดนั้นออกไป เราสามารถคุยเรื่องนี้กับหัวหน้าด้วยความเข้าใจ พร้อมรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน โดยไม่บั่นทอนคุณค่าของตัวเองมากไป ถ้าเรารู้ว่า “จริง ๆ แล้วเราเป็นยังไง”
ในมุมจิตวิทยา Let Them คือ วิธีที่มีรากฐานมาจากหลัก Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการบำบัดจิตโดยการปรับความคิด ซึ่ง ดร. Jade Thomas นักจิตวิทยา อธิบายกับ Women's Health ว่า “ในงานส่วนใหญ่ของฉัน ฉันพบว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือความเครียด คือ ตอนที่เรารู้สึก ‘ขาดการควบคุม’ และน่าเสียดายนะคะที่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลย คือ ผู้อื่น (สิ่งที่เขาทำ คิด หรือพูด)”
Caitlin Slavens นักจิตวิทยา บอกกับ Yahoo Life ว่า “Let Them ไม่ได้หมายถึง ต้องเป็นคนยอมคนไปทุกอย่าง หรือยอมรับการไม่ให้เกียรติ แต่หมายถึง คุณต้อง Let Them แต่ต้องเคารพในตัวเอง ไม่ใช่การให้เขา ‘เอาเลย ทรีตฉันแย่ ๆ ได้เลย’ เราจะไม่รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้อื่น หากเขาเลือกจะทำแบบนั้น “หากมีใครมาล้ำเส้น หรือ ปฏิบัติไม่ดี คำว่า Let Them จะหมายถึง การเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำ มันก็กำลังสะท้อนตัวตนของพวกเขา ไม่ใช่คุณ”
เราไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกอย่างให้ทุกคนเข้าใจตลอดเวลา เรารู้ตัวดีที่สุดว่าเราเป็นอย่างไร แม้ว่าเขาจะเข้าใจผิด ไม่ชอบ หรือคิดไม่ดีกับเราแค่ไหน
ท้ายที่สุด ถ้าเราไม่เก็บเอาคำพูดร้าย ๆ มาบั่นทอน หรือ กล่าวโทษตัวเอง เราอาจจะพบหนทางที่ใจเบาลง และทุกข์น้อยลงก็ได้
สำหรับใครที่ถูกทำร้าย ถูกเอาเปรียบ หรือ ถูกคุกคาม การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง เป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ เพื่อเป็นการยืนหยัดเพื่อตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีสภาพจิตใจที่พร้อมสู้กับความเห็นลบ ๆ ได้ตลอด อาจมีปัจจัยแวดล้อมที่เผชิญอยู่ต่างกันที่เราไม่อาจตัดสินได้
วิธีนี้เป็นอีกวิธีการพักใจในแบบฉบับที่ดูแลจิตใจเบื้องต้นได้อีกทางหนึ่ง ที่สามารถทำได้โดยการโฟกัสที่จิตใจตัวเองเป็นหลัก

















