มาโซคิสม์ Masochism ผู้หลงใหลในความเจ็บปวด เสพติดความเจ็บปวด ไลฟ์สไตล์ พึงพอใจ หรือปัญหาสุขภาพ
มาโซคิสม์ (Masochism) เป็นที่รู้จักจาก Leopold V. Sacher-Masoch นักเขียนนวนิยายชาวออสเตรีย ที่ได้มีตัวละครมีนิสัยได้รับความสุขเมื่อถูกทรมาน ได้รับความเจ็บปวด
คำที่ใช้เรียกผู้ที่ชื่นชอบ หรือ พึงพอใจในความเจ็บปวดของตัวเอง รู้สึกดีเมื่อได้รับความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย และ จิตใจ ส่วนมากมักเห็นในเรื่องทางเพศ อย่างเช่น การถูกมัด ตี บีบคอ จิกผม ด่าทอ ระดับความรุนแรง มีตั้งแต่น้อย จนไปถึงรุนแรงมาก ๆ บางรายรู้สึกเสพติดความเจ็บปวดที่ได้รับ เรียกอาการย่อย ๆ นี้ว่า SM
มาโซคิสม์ มีสาเหตุมาจากอะไร ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีการอ้างอิงว่า อาจมาจากความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสภาพจิตใจ ได้รับผลกระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างในวัยเด็ก แต่สำหรับบางคนเป็นความชื่นชอบและรสนิยม
พฤติกรรมแบบไหนเรียกว่ามาโซคิสม์
- บุคคลนั้นมีความรู้สึกพึงพอใจ ตื่นเต้น และเกิดอารมณ์ทางเพศอย่างรุนแรงเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือถูกลิดรอนสิทธิบางอย่าง อย่างเช่น ถูกทุบตี ถูกกักขัง ถูกลามหรือมัด ถูกด่าทอ ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อร่างกาย และ จิตใจ
มาโซคิสม์ แบ่งแบบไม่เป็นทางการได้ 2 รูปแบบ
แบบแรก คือ ผู้ที่ชื่นชอบความเจ็บปวดในลักษณะที่เป็นรสนิยมส่วนตัว รูปแบบของรสนิยมจัดอยู่ในกลุ่ม BDSM เป็นไลฟ์สไตล์ทางเพศรูปแบบหนึ่งที่มีการสวมบทบาทเป็น ผู้กดขี่ กับ ผู้ถูกกดขี่ มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศระหว่างคู่นอน ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย คำพูด และพฤติกรรม จะเป็นการยินยอมตกลงกันอย่างถูกต้องของทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มกิจกรรม
ในทางวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาชี้ว่า ผู้ที่มีไลฟ์สไตล์แบบ BDSM การเป็นมาโซคิสม์ ไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางจิตเสมอไป ผลการศึกษา พบว่า การปลดปล่อยตัวเองด้วยไลฟ์สไตล์แบบ BDSM อาจช่วยลดความเครียดและเสริมสุขภาพจิตบางรูปแบบได้อีกด้วย
แบบที่สอง คือ กลุ่มของผู้ที่มีอาการความผิดปกติทางเพศ (Paraphilia) ผู้ที่เป็นมาโซคิสม์รูปแบบนี้ อาจไม่สามารถควบคุมความต้องการ หรือ อารมณ์ของตนเองได้ รู้สึกหมกมุ่นกับการถูกทรมานและเพศสัมพันธ์ มักเกิดอาการทางจิตใจและอารมณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น ความเครียด ความรู้สึกผิด ความละอายต่อพฤติกรรมที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ จิตแพทย์อาจวินิจฉัยว่า เป็นความผิดปกตินี้หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน นอกจากการตอบสนองต่อความรุนแรง มาโซคิสม์รูปแบบนี้อาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ตนเกิดความทุกข์ อย่างเช่น
- รับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ เพื่อทรมานตนเอง
- ทำให้สถานการณ์บางอย่างของตนเองแย่ลง
- ยินยอมต่อการถูกคุกคาม หรือ การถูกเอารัดเอาเปรียบ
- เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับคนที่ไม่เป็นมิตร อย่างชอบทำร้ายร่างกาย พูดจาไม่ดี หรือไม่ให้เกียรติคนอื่น
- วิพากษ์วิจารณ์ และด่าทอตนเองอย่างรุนแรง
- ติดแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด
มาโซคิสม์ กับ สุขภาพทางเพศ
มาโซคิสม์ มักเกิดกับ เพศหญิง บางคู่อาจมีความชอบในแบบนี้ การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะสร้างความสุขได้ แต่บางครั้งเมื่อรุนแรงมากไปก็ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในบุคคลที่มีอาการนี้อย่างรุนแรงอาจจะไม่สามารถควบคุมได้จนกระทบชีวิตประจำวัน
มาโซคิสม์ ความสัมพันธ์ที่เสี่ยงอันตราย
- ทำให้เกิดความเสี่ยงตามมาได้ การบาดเจ็บทางร่างกาย การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ เหตุการณ์อื่น ๆ เมื่ออีกฝ่ายทำเกินขอบเขตที่ตกลงไว้ กิจกรรม Asphyxiaphilia หรือ การจำกัดการหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างเช่น ใช้ผ้าปิดปาก ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ หรือวิธีการอื่น เพื่อทำให้มาโซคิสม์หายใจได้น้อยลง หากเกิดความผิดพลาด อาจทำให้ขาดอากาศหายใจ พิการ และเสียชีวิตได้
- มาโซคิสม์ในรูปแบบของความผิดปกติทางความต้องการทางเพศที่ไม่สามารถแยกแยะความรู้สึก ความต้องการ และพฤติกรรมของตนเองกับการใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา อย่างเช่น การถูกไล่ออกจากงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาชีวิตด้านอื่น ๆ
การรักษามาโซคิสม์
มาโซคิสม์ สำหรับบางคนอาจจะเป็นแค่ความชอบ ไม่ได้รุนแรงและไม่ได้สร้างปัญหาให้กับตัวเอง หรือ ผู้อื่น อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยปกติจะใช้ยาและการบำบัดควบคู่กันไป รวมถึงการให้กำลังใจจากคนรอบตัว














