เลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ฉุดตัวเอง วิธีเปลี่ยนเป็นคนใหม่ เลิกนิสัยชอบ ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’
สาเหตุที่ทำให้คนชอบผัดวันประกันพรุ่ง
- หลายคนเชื่อว่า การทำงานจะต้องมีอารมณ์ที่ดี หรือ อยู่ในช่วงเวลาที่อยากทำงาน
- มักอ้างว่าตนเองสามารถทำงานได้ดีในสภาวะกดดัน หรือเวลากระชั้นชิด จึงชอบรอให้ใกล้ถึงกับวันกำหนดส่งงานก่อนจึงเริ่มทำ
นิสัยที่ส่งผลให้ผัดวันประกันพรุ่ง
- กลัวความเจ็บปวด มีประสบการณ์ไม่ดีกับการทำสิ่งหนึ่งแล้วรู้สึกว่ายากเย็น จึงเลือกที่จะไม่ทำ แล้วผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ เพื่อพยายามหนีความรู้สึกเจ็บปวด ความยากเย็นที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทำสิ่งนั้น
- คิดว่าทำได้ไม่ดีพอ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็จะไม่ล้มเหลว เมื่อประสบการณ์สอนให้กลัวความล้มเหลว การไม่ทำอะไรเลยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหตุผลมีรากฐานจากการนับถือตนเองต่ำ และติดภาพความสมบูรณ์แบบ หรือ “เพอร์เฟ็คชันนิสต์” ทำให้ประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง
ผลกระทบที่อาจเกิดต่อร่างกาย
- การเร่งทำในเวลากระชั้นชิด ยิ่งทำให้เพิ่มความเครียด ความกดดันในการทำผลงานออกมาให้เสร็จตามเวลา
- ผัดวันประกันพรุ่งระยะยาว อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ความเครียด จนอาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
วิธีง่าย ๆ ช่วยสลัดนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งทิ้งไป
1.วางแผนเวลาการทำงานทุกครั้งที่ได้รับมอบหมาย การวางแผนแบ่งงานทำด้วยความสม่ำเสมอ จะทำให้งานนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี มีประสิทธิภาพ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และหากวางแผนบ่อย ๆ จนเกิดเป็นนิสัย จะทำให้ไม่ต้องบังคับตัวเองทำงานอีกต่อไป และปรับแก้นิสัยการผัดวันประกันพรุ่งไปได้
2.จัดลำดับความสำคัญของงานในแต่ละวัน การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละงาน จะช่วยให้สามารถกำหนดเวลาทำงานแต่ละงานได้ ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินไปได้ ทำ to do list ให้เขียนลำดับความสำคัญ แล้วแยกย่อยออกมา จะช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จมากขึ้น
3.จำกัดชั่วโมงการทำงานแต่ละชิ้น อย่างเช่น วันนี้จะทำงานที่ 1 เพียง 30 นาที งานที่ 2 ใช้เวลา 20 นาที แล้วกลับมาทำต่อในวันพรุ่งนี้ จะทำให้เห็นว่าการทำงาน มีความคืบหน้าจริง ๆ มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น หรืออาจเพิ่มเวลาการทำงานขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อให้งานนั้นเสร็จสมบูรณ์ได้ตามเวลา
4.เลือกสถานที่ทำงานที่ให้สมาธิได้ดี การเลือกสถานที่ที่เหมาะสำหรับตัวเองในการทำงาน สามารถช่วยสร้างสมาธิในการทำงานได้อย่างดี ไม่มีสิ่งที่รบกวนการทำงาน ทำให้โฟกัสกับงานได้มากขึ้น เลือกโต๊ะทำงานดี ๆ เลือกเก้าอี้ที่นั่งสบาย สถานที่ควรอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด
5.จัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก และให้รางวัลตัวเอง อย่างเช่น หากรู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญใจ อาจต้องมองหาคุณค่าหรือข้อดีในการทำงานนั้น ๆ หรือถ้ารู้สึกเบื่อหน่ายกับงาน อาจตั้งรางวัลว่าถ้าทำงานสำเร็จ ก็จะให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อของที่อยากได้ หรืออาหารที่อยากกินได้ เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป แต่ต้องระมัดระวังความบันเทิงที่เพลินเกินห้ามใจ อย่างเช่น เกม โซเชียลมีเดีย เพราะอาจทำให้ยิ่งเสียสมาธิและเสียเวลายิ่งกว่าเดิมได้
6.กัดฟัน ลงมือทำทันที การลงมือทำไปก่อนอาจทำให้เกิดผลสำเร็จมากกว่า ไอเดียดี ๆ อาจจะโผล่มาในขณะทำก็ได้ การลงมือทำไปแล้วหมายความว่างานนั้นมีโอกาสสำเร็จ มากกว่า ไม่ได้ลงมือทำอย่างแน่นอน แต่ถ้ากลัวตัวเองจะเถลไถลไม่ยอมเริ่มทำสักที ตั้งนาฬิกาปลุกบอกเวลาเริ่มไว้ก็ช่วยได้อีกแรง
7.เผชิญหน้ากับความจริง เป็นข้อที่ยากที่สุด การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องทำอาจยากลำบาก แต่เมื่อมองเห็นและยอมรับความจริง และประเมินสถานการณ์ได้แล้ว ความน่ากลัวของมันอาจลดลง ไม่เหมือนกับตอนที่จินตนาการไปใหญ่โตในตอนแรก แล้วท้ายที่สุดจะพบว่า ไม่มีอะไรจะแก้ไขความจริงข้อนี้ได้นอกจากลงมือทำสิ่งนั้นให้เสร็จ

















