เทคนิคการเขียนและแต่งนิยายเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ บทที่ 1 จะเขียนเรื่องแนวไหนดี
เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอ่านในบทความนี้ ต้องเป็นคนที่มีความสนใจหรืออาจจะชื่นชอบการเขียนนิยาย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร และต้องทำอย่างไรให้เรื่องราวนิยายของเราน่าสนใจ ไปจนถึงการหาที่ขายนิยายหรือลงผลงาน ทั้งหมดนี้ผู้เขียนจะค่อยๆ เอาสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรู้จากประสบการณ์ที่เป็นนักเขียนมาเป็น 10 ปี (น่าจะเกิน) มาบอกเล่า โดยในบทที่ 1 จะเป็นการชี้แนะสำหรับคำถามโลกแตกที่นักเขียนนิยายหลายคนต้องเป็น นั่นคือจะเขียนนิยายแนวไหนดี เพราะเมื่อพูดถึงนิยายในตอนนี้ก็มีหลายแนวมากๆ ทั้งแนวแฟนตาซี แฟนตาซีต่างโลก แฟนตาซีแบบสายวาย แนวฆาตกรรม แนวสืบสวนการฆาตกรรม แนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนา แนวรักสายวาย แนวรักต่างโลก แนวรักโรแมนติ แนวรักสยองขวัญ ที่บอกเลยว่าเอามาเขียนได้เป็น 10 บรรทัด เพราะแนวนิยายสมัยนี้มันมีเยอะและแยกย่อยลงไปได้อีกเพียบ ดังนั้นคำถามแรกที่นักเขียนหลายคนเจอคือ เราจะเขียนแนวไหนดี...?
คำตอบนั้นง่ายมากๆ คือเขียนเรื่องที่คุณชอบและอยากเขียน ซึ่งมันดูเหมือนจะง่ายใช่ไหมที่ตอบแบบนี้ แต่ทำไมหลายคนถึงยังเลือกไม่ได้ เพราะหลายคนนั้นไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน แต่คิดถึงว่ามันจะขายได้ไหมจะมีคนอ่านรึเปล่า หรือมันจะดังเหมือนนิยายเรื่องอื่นๆ รึเปล่า ร้อยแปดพันเก้าที่คุณจะคิด ซึ่งอันนั้นคงปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาเอา หรือถ้าคุณไม่รู้จริงๆ ก็ยกตัวอย่างผู้เขียนที่กว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบแนวนักสืบคดีฆาตกรรมปริศนา ประมาณยอดนักสืบจิ๋วโคนันคินดะอิจิ ผู้เขียนก็ต้องลองผิดลองถูกเขียนมาแล้วทุกแนว ทั้งแนวรักแนวผีแนวแฟนตาซีต่างโลก เรียกว่าเขียนมาหมดเพื่อหาดูว่าตัวเองชอบอะไรและเลือกเดินมาทางนั้นทางเดียว ซึ่งการจะหาว่าคุณชอบหรือไม่ชอบอะไรก็เลือกจากหนังที่คุณชอบดู นิยายที่คุณชอบอ่าน การ์ตูนที่คุณดูว่าคุณชอบแนวไหน นั่นคือแนวที่คุณควรเลือกเป็นแนวแรก
พอได้แนวเรื่องที่ชอบมาแล้วยกตัวอย่างแนวสายวายคู่จิ้น พระเอกกับนายเอกอยู่บ้านเดียวกันและค่อยๆ ชอบกัน แต่ตอนแรกเกลียดขี้หน้ากัน ซึ่งมาจากนิยายวายที่คุณอ่าน คุณก็สามารถแต่งแนวนี้ได้ เพราะในโลกของวรรณกรรมไม่มีถูกไม่มีผิดของแค่อย่าไปลอกใครมาก็พอ และพอคุณได้แนวที่ต้องการแล้วต่อมาคือการหาข้อมูล ทั้งนิยายหนังการ์ตูนที่เป็นสายวายพระเอกนายเอกอยู่บ้านเดียวกัน ไปดูมาให้หมดเพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการเขียน และที่สำคัญที่สุด (ขีดเส้นใต้เลย) การดูอ่านดูแนวที่เราจะเขียนเยอะๆ ก็เพื่อบอกตัวเองว่าเราจะไม่เขียนซ้ำกับของที่มีอยู่แล้ว แต่อ่านดูเพื่อเป็นตัวอย่างแนวทางในการเขียน ยกตัวอย่างผู้เขียนที่เขียนแนวสืบสวนอย่างโคนันคินดะอิจิ คุณคิดว่าผู้เขียนอ่านนิยายการ์ตูนแนวนี้ไปกี่เรื่องกี่เล่มกี่รอบ เรียกว่าอ่านจนเกือบจะเป็นแฟนพันธ์แท้เลย และยิ่งอ่านเยอะมากเข้าผู้เขียนก็ยิ่งรู้จักการวางมุกการสร้างตัวละครว่าต้องทำอย่างไร กลไกของนิยายแนวนี้คืออะไร เพราะในนิยายทุกๆ แนวจะมีโครงหลักของตัวเองอยู่ อย่างแนวสืบสวนแบบโคนันจะเริ่มจากตัวเอกที่ไปที่ที่หนึ่ง ตอนแรกก็แนะนำตัวละครนักสืบว่าคือใคร และก็แนะนำตัวละครในคดีนั้นว่ามีใครบ้างนิสัยแต่ละคนเป็นแบบไหน สถานที่เป็นอย่างไร ต้องใส่ปริศนาอะไรตรงไหน จนมีคนตาย พอตายแล้วต้องวางโครงเรื่องไปทางไหนและต้องไปยังไงต่อ มันจะบอกเราเองถ้าคุณอ่านมามากๆ คุณจะมองเห็นจุดนี้ในโครงเรื่องแนวนั้นๆ
ซึ่งในตอนนี้จะเป็นช่วงที่กินเวลาเยอะที่สุดแต่มันจะไม่น่าเบื่อถ้าคุณชอบ อ่านไปเลยอ่านเยอะๆ ดูมากๆ ตอนอ่านต่อดูก็คิดตามว่าเนื้อเรื่องตรงนี้มันมาแบบนี้ต้องไปแบบนั้น เพราะอย่างที่บอกว่านิยายแต่ละแนวจะมีโครงที่ต่างกัน ถ้าคุณเข้าใจโครงของนิยายแนวที่คุณเขียนคุณก็จะสร้างนิยายที่เป็นของตัวคุณเองออกมาได้ และขอย้ำอีกครั้งว่าอย่าเอาสิ่งที่คุณอ่านหรือคุณชอบในนิยายหรือหนังเรื่องนั้นมาใส่ในนิยายของคุณ เพราะคนอ่านเขารู้และจำได้ ซึ่งอย่าลืมว่าคนอ่านนิยายของคุณคือคนที่ชอบนิยายแนวนี้ พวกเขาเธอเหล่านั้นรู้จักโครงเรื่องนิยายแนวที่ตัวเองอ่านดี พอมีโครงเรื่องที่ซ้ำกันคนอ่านจะรู้ทันที คุณคงจะไม่อยากถูกคนอ่านบอกว่าเนื้อเรื่องแบบนี้เหมือนในหนังหรือนิยายเรื่องนี้เลย มันคงน่าอายน่าดู ดังนั้นควรคิดและสร้างเรื่องของตัวเองขึ้นมา แต่ก็มีอนุโลมให้เอาแรงบันดาลใจมาได้ อย่างผู้เขียนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโคนัน เลยให้ตัวเองใส่แว่น อายุเท่าคุโด้ในการ์ตูน และมีเพื่อนสามคนเหมือนที่มีโคนันรันและโคโกโร่ นั่นคือแรงบันดาลใจที่ผู้เขียนใส่ลงไปในนิยายตัวเอง หรือชื่อ ย้งยี้ ที่เป็นชื่อตัวเอกก็เอามาจาก อึ้งย้ง ในนิยาย มังกรหยก นั่นคือแรงบันดาลใจที่เอามาใส่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ผู้เขียนไม่เคยถูกคนอื่นบอกเลยว่านิยาย ย้งยี้สาวน้อยยอดนักสืบ ของผู้เขียนไปซ้ำกับเนื้อเรื่องของโคนันคินดะอิจิหรือนิยายหนังเรื่องไหนเลย ทั้งที่ผู้เขียนก็อ่านของพวกนี้เป็นร้อยๆ เล่ม
สรุปง่ายคือ ถ้าเราสนใจอยากเขียนนิยายแนวไหนก็ลองไปหาไปอ่านไปดูเยอะๆ เรื่องไหนชอบจะอ่านซ้ำดูหลายรอบก็ได้ ดูจนเราเข้าใจโครงสร้างของเรื่องแนวนั้น เมื่อคุณเข้าใจโครงสร้างของมันคุณจะสร้างมารถสร้างเนื้อเรื่องใหม่จากโครงสร้างแนวนั้นออกมาได้ ลองไปทำตามดู เดี๋ยวเอาไว้บทที่ 2 เราจะมาพูดถึงเรื่องอื่นๆ กันต่อบอกเลยว่ายาวๆ งานนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทต่อไป














