ภาวะรังไข่หยุดทำงาน (POI) เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าคนทั่วไป
ภาวะรังไข่หยุดทำงาน (POI) คือ ภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของรังไข่ในผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มักเรียกกันว่า "การหมดประจำเดือนก่อนกำหนด"
เป็นภาวะที่รังไข่ของผู้หญิงหยุดทำงาน หรือทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญก่อนอายุ 40 ปี ส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงและเกิดภาวะมีบุตรยาก ภาวะนี้แตกต่างจาก วัยทองก่อนกำหนด (Premature Menopause) ตรงที่ผู้หญิงที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงาน อาจยังมีประจำเดือนมาเป็นครั้งคราว และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้บ้าง
สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงาน
- พันธุกรรม ความผิดปกติของโครโมโซม อย่างเช่น โรค Turner Syndrome หรือ Fragile X Syndrome
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases) ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อรังไข่
- การรักษาทางการแพทย์ การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสง การผ่าตัดรังไข่
- ปัจจัยอื่น ๆ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การสูบบุหรี่ การขาดสารอาหาร
อาการของภาวะรังไข่หยุดทำงาน
- ประจำเดือนขาดหายหรือมาไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการคล้ายวัยทอง อย่างเช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
- ภาวะมีบุตรยาก
- ช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดฝ่อบางลง ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์มีอาการเจ็บและไม่เป็นที่พึงพอใจ
- กระดูกบางหรือมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
การวินิจฉัย
ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลาสามเดือนขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดและตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ
ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยได้ โดยผู้มีภาวะรังไข่หยุดทำงาน ที่ไม่ได้รับการรักษาฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจเพิ่มขึ้น การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การรักษา
- การบำบัดด้วยฮอร์โมน (Hormone Replacement Therapy: HRT) ชดเชยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพื่อบรรเทาอาการ
- การรักษาภาวะมีบุตรยาก ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างเช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
- การดูแลสุขภาพกระดูก รับประทานแคลเซียมและวิตามินดี ออกกำลังกายที่เสริมสร้างกระดูก อย่างเช่น การยกน้ำหนัก
- การดูแลทางจิตใจ ให้คำปรึกษาหรือเข้ากลุ่มสนับสนุนเพื่อช่วยจัดการความเครียดและความวิตกกังวล
- การป้องกัน ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่การลดปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น การเลิกสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และการหลีกเลี่ยงสารพิษ อาจช่วยลดความเสี่ยงได้บางส่วน
















