ชาวจีนเชื่อ ‘ความสูง’ เป็นแต้มต่อได้งานดี ยอมจ่ายค่าฮอร์โมนเสริมการเติบโตให้ลูกตั้งแต่ 5 ขวบ
ชาวจีนเชื่อ ‘ความสูง’ เป็นแต้มต่อได้งานดี ยอมจ่ายค่าฮอร์โมนเสริมการเติบโตให้ลูกตั้งแต่ 5 ขวบ
คนจีนเชื่อ ‘ความสูง’ กลายเป็นแต้มต่อได้ทำงานดี มากกว่าคนที่ไม่สูง แถมยังหาคู่สมรสได้ง่าย บางครอบครัวเครียดหนัก ยอมจ่ายเงินซื้อฮอร์โมนเร่งความสูงให้ลูกตั้งแต่ 5 ขวบ หวังสร้างรูปร่างให้ได้เปรียบในสังคม
Nikkei Asia รายงานว่า แม้ปัจจุบันเด็กชาวจีนจะมีความสูงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่หลายครอบครัวยังคงต้องการให้ลูกของตัวเองสูงมากขึ้น เพราะเชื่อว่าความสูงจะมีผลต่อโอกาสในการหางานและการหาคู่ชีวิต ทำให้พ่อแม่หลายคนหันไปซื้อฮอร์โมนเร่งความสูง เพื่อให้ลูกมีรูปร่างที่ได้เปรียบในสังคม
NCD Risk Factor Collaboration เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ทำงานร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในช่วงปี 1986-2019 เด็กชาวจีนทั้งชายและเด็กหญิงอายุ 19 ปี มีความสูงเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของระบบสาธารณสุข โภชนาการที่ดี มีการบริโภคโปรตีน วิตามินดี และแคลเซียม ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กดีขึ้น
อีกทั้งยังมีโครงการนมโรงเรียนแห่งชาติ แจกนมฟรีให้กับนักเรียนจำนวน 32.1 ล้านคนต่อวัน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเด็กทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนในหลาย พื้นที่ทางภาคเหนือที่มีส่วนสูงเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับชาวจีนในนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลกวางตุ้งที่มีส่วนสูงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
ถึงกระนั้นแม้ว่าเด็กชาวจีนจะสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังต้องการให้ลูกสูงขึ้นอีก สะท้อนจากผลสำรวจของ China Children and Teenagers' Fund ที่ได้สอบถาม คุณแม่ชาวจีน 4,000 คน พบว่า กว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้สึกว่าลูกของตัวเองที่มีอายุระหว่าง 3-17 ปี ยังสูงไม่เท่าระดับที่พ่อแม่ตั้งเป้าเอาไว้
โดยเฉลี่ยแล้วพ่อแม่ของเด็กอายุ 16-17 ปี คาดหวังว่าลูกชายควรมีส่วนสูงประมาณ 180 ซม. และลูกสาวควรสูง 169 ซม.
ลู่เหวินหลี่ แพทย์จากโรงพยาบาลรุ่ยจินในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่จะสอบถามว่า ทำไมลูกของตัวเองไม่สูงเหมือนคนอื่น ในเชิงเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุใกล้เคียงกันแต่ในความเป็นจริงแล้วความสูงของเด็กบางคนนั้นถือว่าตรงตามมาตรฐานของประเทศแล้ว
ถามว่าทำไมคนจีนถึงให้ความสำคัญกับความสูงมากขึ้น เพราะสถานการณ์สังคมในจีน ผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิง ทำให้การหาคู่ครองยากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้การหางานยากขึ้น โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
หลายบริษัทเปิดรับสมัครงานในบางตำแหน่ง ถึงขั้นกำหนดไว้ว่าผู้สมัครผู้ชายต้องมี ความสูงไม่น้อยกว่า 185 ซม. ส่วนผู้หญิงจะต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 170 ซม.
แน่นอนว่ามีส่วนทำให้คนจีนเชื่อว่าคนสูงดูดีจะมีโอกาสได้งานดีๆ มากกว่าคนที่ไม่สูง บางครอบครัวถึงขั้นพาลูกชายวัย 5 ขวบ ไปหาหมอ เพื่อฉีดฮอร์โมนเร่งการเจริญ เติบโต ควบคู่ไปกับให้ลูกกระโดดเชือก เล่นบาสเกตบอล และกิจกรรมทางกายเพื่อ กระตุ้นการเติบโตของร่างกาย ใช้ระยะเวลา 1 ปี เด็กชายก็สามารถสูงแซงหน้า เด็กวัยเดียวกันได้
รวมแล้วพ่อแม่หมดค่าใช้จ่ายยาเพิ่มความสูงพุ่งสูงถึง 130,000 หยวน หรือราว 640,000 บาท ทำให้มีบางคนเริ่มกังวลว่า การที่พ่อแม่ชาวจีนให้ความสำคัญกับความสูงของลูกๆ อาจทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมแย่ลง เพราะพ่อแม่ที่มีกำลังซื้อก็จะมีโอกาสหาฮอร์โมนเร่งการเติบโตให้กับลูก ซึ่งจะทำให้ลูกได้เปรียบในการหาคู่สมรสและได้ทำงานที่มีเงินเดือนสูง ซึ่งอาจเป็นวงจรที่เกิดขึ้นไปสู่รุ่นต่อรุ่น
อีกผลกระทบจากการเพิ่มส่วนสูงในจีนเริ่มส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้หลายหน่วยงานต้องปรับมาตรฐานด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและรถไฟใต้ดิน รวมถึงบริษัทรถยนต์อย่าง BYD และ Nio เริ่มนำเปิดตัวรุ่นรถที่มีพื้นที่วางขากว้างขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตเสื้อผ้าก็เร่งพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายของประชากรที่สูงขึ้น




















