5 โรคฮิตของคนติดจอมือถือ
1.โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก อาการนี้เกิดขึ้นเพราะ เมื่อคนเราติดอยู่แต่หน้าจอ คุยกับคนในโลกออนไลน์ กลายเป็นไปเพิกเฉยต่อคนในโลกจริง และหลายคนใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องระบายความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเวลา ว้าเหว่ เหงา เดียวดาย ก็ยิ่งโพสต์เยอะขึ้น
วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้พบว่า คนที่ถูกคนอื่น ๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลกแห่งความจริง หลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา เพราะเฟซบุ๊กได้สร้างความเป็นจริงเทียม (artificial reality) ขึ้นมา จากการโพสต์แต่เรื่องดี ๆ แต่เก็บงำเรื่องร้าย ๆ แย่ ๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ จึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบในโลกเสมือนจริงเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ความรู้สึก "ไร้ค่า" จึงเกิดขึ้น ถ้าคุณรู้สึกเสียความมั่นใจสุด ๆ เวลาส่งคำร้องไปขอเป็นเพื่อนแล้วไม่ได้รับการตอบรับ เก็บมาคิดว่าทำไมจึงไม่เป็นที่ต้องการ นี่คือสัญญาณของโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก
วิธีหลีกหนีอาการนี้คือ ลดการเล่นเฟซบุ๊กลง ทั้งอ่านเรื่องคนอื่นและโพสต์เรื่องตัวเองลดลง จะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
2.ละเมอแชท (Sleep-Texting) อาการนี้ก็คือ แม้จะนอนหลับแต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอนั่นเอง
สาเหตุมาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอน หากมีข้อความเข้ามา สมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรไป หรือส่งไปหาใคร เพราะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น
อาการละเมอแชทยังกระทบสุขภาพด้วย เพราะเมื่อสมองปลุกให้เราตื่นในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน
3.โรควุ้นสายตาเสื่อม ปัจจุบันพบมากขึ้นในคนอายุน้อย ๆ สาเหตุหลัก ๆจากการติดจอมากเกินไป
สายตาเป็นอวัยวะที่ใช้งานหนักอยู่แล้ว ถ้ายิ่งต้องมาจ้องหน้าจอ บางคนปิดไฟเล่นมือถือ ทำให้ดวงตาต้องใช้งานหนักอีกทวีคูณ บางคนปวดตาแต่คิดว่าไม่เป็นอะไร แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน ๆ จนมองเห็นเป็นหยากไย่ หรือ เส้นวนไปวนมาเหมือนยุง นั่นคือ โรควุ้นสายตาเสื่อม
วิธีป้องกัน เพียงออกห่างจากหน้าจอ พักสายตาและมองออกไปที่ไกลๆ บ้าง
4.โรคขาดมือถือไม่ได้ คือ โรคการกลัวไม่มีมือถือใช้
เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวล หมกมุ่นอยู่กับการเช็คมือถือตลอดเวลา หากจู่ ๆเกิดไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แบตหมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย นั่นแสดงว่ากำลังมีอาการเป็น โรคขาดมือถือไม่ได้
ต้องระวังปัญหาสุขภาพมากๆ โดยเฉพาะนิ้วล็อค ปวดตา ปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร
5.โรคสมาร์ทโฟนเฟซ เกิดจากการก้มจ้องมองหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานานเกินไป
ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดการเกร็ง ทำให้ไปเพิ่มแรงกดดันที่แก้ม ทำให้เส้นใยอิลาสติกบนใบหน้ายืดจนแก้มบริเวณกรามย้อยลงมา กล้ามเนื้อตรงมุมปากจะตกไปตรงคางด้วย จนใบหน้าดูแปลกไป
















