ความเชื่อโบราณ "ประเพณีขับไล่ผีปอบ"
ความเชื่อโบราณ "ประเพณีขับไล่ผีปอบ"
ผีปอบมีจริงหรือ?
ผีปอบ มักจะเกิดจากผู้ที่เลื่อมใสในของศักดิ์สิทธิ์ คาถาอาคมหรือไสยศาสตร์ แล้วประพฤติปฏิบัติตามหรือรักษาไว้ไม่ได้ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยผีเข้าสิงนี้ต้องมีพิธีกรรม มีดนตรี มีการฟ้อนร้องรำ แต่การไล่ผีปอบนั้นมีพิธีเล็กน้อย ไม่มีดนตรี ไม่มีเพลงพื้นบ้าน มีแต่การข่มขู่ เฆี่ยนตี ทรมานและใช่อำนาจจิต
ความเชื่อในเรื่องผีปอบนี้มีผลต่อความเป็นอยู่ของชาวชนบทค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลความเจริญที่ชาวบ้านยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ตามประเพณีท้องถิ่น ถ้าเกิดผีปอบขึ้นจะต้องใช้หมอไสยศาสตร์รักษาสะเดาะเคราะห์ให้หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นปกติสุข ซึ่งก็หมายถึงชาวบ้านจะต้องเสียเงินจ้างหมอผีมาทำพิธีไล่ผี
ความเชื่อและการขับไล่ผีปอบ
จากรายงานการสืบสวนของตำรวจภูธร จังหวัดนครพนม กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าคณะกรรมการหมู่บ้านปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวหาลูกบ้านว่าเป็นผีปอบนั้นสะท้อนความเชื่อในระดับชาวบ้านได้ ดังนี้
มีผู้ให้ปากคำว่า เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา ที่บ้านโพนงาม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้มีการกล่าวอ้างว่า นายสุวรรณ เชื้อกลางใหญ่และนายเต็ม แก้วปิลา เป็นผีปอบ ชาวบ้านได้ไปหาหมอไสยศาสตร์มาทำการรักษาจนหา แต่ต่อมานายสุวรรณและนายเต็มได้ไปเรียนวิชาที่ทำให้เป็นปอบอีก จึงไม่สามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้และหนีออกจากหมู่บ้านไป
ต่อมาเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว มีการกล่าวอ้างว่า นายยอง คัณทักษ์ เป็นผีปอบและได้รักษาทางไสยศาสตร์จนหาย และอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ตามปกติ
อีกรายหนึ่งเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว กล่าวอ้างว่านางอรดี คัณทักษ์ เป็นผีปอบ ชาวบ้านได้ว่าจ้างหมอไสยศาสตร์ทำการรักษาจนกระทั่งหายขาด นางอรดีจึงได้ไปบวชชีอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเขตอำเภอธาตุพนม และเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวอ้างว่านายพิณ สมกุล เป็นผีปอบ ชาวบ้านก็ช่วยไปหมอไสยศาสตร์มาทำการรักษาเหมือนเดิม จนถึงเดือนเมษายน 2541 ได้กล่าวอ้างนางเลอ คัณทักษ์และนายสำเร็จ กุดสาจารย์ ว่าเป็นผีปอบ คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านโพนงามทุกคนได้ประชุมตกลงกันว่าจ้างหมอไสยศาสตร์มาทำพิธีดังกล่าว จะทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์ให้กับหมู่บ้าน โดยออกเงินกันครอบครัวละ 50 บาท จากนั้นนายเสริม คัณทักษ์ กำนันตำบลนาคำ/ หัวหน้าคณะกรรมการหมู่บ้านได้นำคณะกรรมการหมู่บ้านไปจ้างหมอไสยศาสตร์มาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ตามกรรมวิธีทางไสยศาสตร์ มีเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงบูชาต่างๆ เช่น เทียนเหลือง 100 เล่ม เทียนหนักเล่มละบาท 2 คู่ ผึ้ง 12 เบี่ยง ผ้าขาวยาว 6 ศอก 6 ผืน ขันหมกเบ็ง 9 ชั้น 1 คู่ บาตร 1 ใบ ผ้า 1 ไตร เทียนพระธรรม (เทียนใหญ่) 1 เล่ม หม้อ 10 ใบ และเงินจ่ายค่าคาย 10000 บาท โดยทำการปลุกเสกตลอดทั้งคืน ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.00 น.
ต่อมาในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 08.00 น. หมอไสยศาสตร์ตั้งทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง โดยมีคณะหมอไสยศาสตร์ เรียกว่า ลูกธรรม (ผู้ไล่จับผีปอบ) ใช้ผ้าปิดตาทั้ง 3 คน เข้านั่งในพิธีด้วย โดยหมอไสยศาสตร์เป็นผู้ทำพิธีกรรมปลุกเสก ในการทำพิธีนี้มีชาวบ้านโพนงามทั้ง 2 หมู่บ้าน ประมาณ 300 คนมาร่วมดูด้วย เมื่อไสยศาสตร์ทำการปลุกเสกนานพอสมควร ลูกธรรมได้ลุกขึ้นและเดินออกไปจากพิธี และวิ่งไปที่บ้านของนางนาตร คัณทักษ์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของนายสำเร็จ กุดสาจารย์ ลูกธรรมได้อ้างว่าจับผีปอบได้ที่บ้านนางนาตร แล้วนำมาส่งให่หมอไสยศาสตร์ที่ทำพิธีอยู่ที่ศาลากลางบ้าน แล้วจากนั้นลูกธรรมได้ไปจับผีปอบอีก โดยไปจับที่บ้านของนายสมัคร- นางเลอ คัณทักษ์ ซึ่งในการจับผีปอบของลูกธรรมนั้นได้มีชาวบ้านติดตามไปดูการจับผีปอบประมาณ 100 คน ลูกธรรมอ้างว่าจับผีปอบได้ที่บ้านของนายสมัคร – นางเลอ และหมอไสยศาสตร์ได้สอบถามผีปอบตามกรรมวิธีทางไสยศาสตร์แล้วทราบว่า ผีปอบที่จับได้นั้นมาจากนายสำเร็จและนางเลอ ซึ่งนายสำเร็จและนายสมัครสามีของนางเลอได้ตกลงที่จะทำการรักษาผีปอบ โดยนางเลอต้องเสียค่ารักษา 2000 บาท ส่วนนายสำเร็จเสียค่ารักษา 4000 บาท จากนั้นหมอไสยศาสตร์ไปขับไล่ผีปอบให้
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2542 คณะกรรมการหมู่บ้านต้องไปติดต่อกับหมอไสยศาสตร์มาทำพิธีไล่จับผีปอบในหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนางสี คัณทักษ์ เกิดอาการป่วยรักษาที่โรงพยาบาลไม่หาย สอบถามแล้วหมอ สอบถามแล้วหมอไสยศาสตร์ทักว่ายังมีผีปอบอยู่ในบ้านโพนงาม และทราบว่าเป็นผีปอบมาจากนายสำเร็จ หมอไสยศาสตร์จึงมาทำพิธีไล่จับผีปอบ ได้ขอความร่วมมือในการอำนวนความสะดวกจากนายสำเร็จ โดยมีชาวบ้านหลายคนตามมาดู เมื่อลูกธรรมอ้างว่าจับผีปอบได้แล้ว จึงนำไปมอบให้หมอไสยศาสตร์เพื่อดำเนินกรรมวิธีต่อไปเป็นอันเสร็จพิธี ต่อมาในตอนเย็นชาวบ้านได้ประชุมกัน โดยเรียกนายสำเร็จมาเจรจาตกลงกันที่บ้านของนายเสริม คัณทักษ์ กำนันตำบลนาคำ ว่าจะเอาอย่างไรกรณีที่มีหมอไสยศาสตร์กล่าวอ้างว่านายสำเร็จเป็นผีปอบ ในการประชุมครั้งนี้มี ร.ต.ต.บารมี วงษ์อินดา รอง สวป.สภ.อ.ศรีสงคราม ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย จากนั้นนายไกรยุทธ บุตเวส ปลัดอำเภอได้ชี้แจงให้นายสำเร็จทราบว่าการทำพิธีไล่จับผีปอบนี้เป็นประเพณีหมู่บ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายสิบปีแล้ว โดยความเห็นพ้องต้องกันของชาวบ้านทุกคน หากว่านายสำเร็จมีความบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ได้เป็นผีปอบ ก็ขอให้ไปพักอยู่ที่อื่นก่อนชั่วคราว เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่านายสำเร็จจะเป็นผีปอบหรือไม่ หากนายสำเร็จไปอยู่ที่อื่นแล้วยังมีเหตุการณ์เหมือนเดิมอีกก็แสดงว่านายสำเร็จไม่ได้เป็นผีปอบ หรือหากนายสำเร็จเป็นผีปอบจริงและยอมรับความตัวเองเป็น ก็ขอให้ยอมรับการรักษาจากหมอไสยศาสตร์ให้หายเป็นปกติ แล้วจะได้มาอยู่ร่วมกับชาวบ้าน
จากความเชื่อเรื่องผีปอบที่ปลูกฝังกันมา ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังห่างไกลความเจริญทางสาธารณสุข เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องอาศัยการรักษาไปตามมีตามเกิดโดยใช้หมอผีมาเป็นที่ปรึกษา จึงเกิดอาชีพจับผีปอบแพร่หลายขึ้นเป็นช่องทางในการหารายได้ ผู้ที่มีอาชีพนี้ก็คือผู้ที่ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์หมอผีไสยศาสตร์ เพราะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากค่าตอบแทนการรักษาครั้งละมากๆ โดยหมอผีจะมีลูกน้องหรือบริวารณเที่ยวไปสืบตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีความเชื่อเรื่องผีปอบว่าผู้ใดมีฐานะดีพอที่จะจ่ายค่ารักษาได้ ก็จะมีวิธีการที่ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบลงมากินหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ผลสุดท้ายจบลงที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบต้องจ่ายเงินค่ารักษาให้กับหมอผีเพื่อแลกกับการที่จะไม่ต้องถูกขับให้ออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น
อย่างไรก็ตาม เคยมีพระภิกษุบางรูปที่เป็นลูกบ้านได้เข้าไปบวชเรียนที่วัดตัวอำเภอได้พยายามกลับไปเทศนาสั่งสอน และพยายามรักษาความป่วยไข้ของชาวบ้านด้วยยาสมุนไพร แต่ก็ถูกต่อต้านโดยกลุ่มหมอผีไสยศาสตร์ ถูกกล่าวหาว่าพระเป็นผีปอบ จนไม่สามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้ ทางโรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นได้เผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ และรับรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช แต่ก็ได้ผลไม่มากนัก ชาวบ้านยังคงเชื่อเรื่องผีปอบอยู่ตามเดิม ตราบเท่าที่หมอผีไสยศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในหมู่บ้าน โดยมีคำขวัญว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”
ภาพ : Pixabay













