อีก 7 ปีมีความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อย “2024 YR4” จะพุ่งชนโลก??!!!
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2024 กล้องโทรทรรศน์ ATLAS หรือ Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ในเมืองริโอ ฮูร์ตาโด ประเทศชิลี ได้ค้นพบ ดาวเคราะห์น้อย “2024 YR4” เป็นครั้งแรก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 ถึง 90 เมตร (130 ถึง 300 ฟุต) ซึ่งจัดอยู่ในประเภทวัตถุใกล้โลกประเภทอพอลโล (โคจรผ่านโลก) แต่ความขนาดความกว้างดังกล่าวนั้นยังไม่ใกล้เคียงกับขนาดของดาวเคราะห์น้อย “ผู้พิฆาตดาวเคราะห์ (Planet Killer)” ที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 กิโลเมตร และถือเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงสุดท้ายที่พุ่งชนโลกของเรา ดาวเคราะห์น้อยพิฆาตดาวเคราะห์เป็นหินในอวกาศที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตรขึ้นไป และอาจส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต
ตามข้อมูลของสำนักงานอวกาศยุโรปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2025 ดาวเคาราะห์น้อย “2024 YR4” ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 3 ตามมาตราตูรินโดยมีโอกาส 1 ใน 45 หนือคิดเป็น 2.2% ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม 2032 เนื่องมาจากการสังเกตการณ์ครั้งใหม่ นักดาราศาสตร์คาดว่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการสังเกตการณ์เพิ่มขึ้น หากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เคลื่อนตัวตามแบบแผนของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกดวงอื่นๆ หลังจากการค้นพบ โอกาสที่จะพุ่งชนจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามลำดับ
“2024 YR4” ได้รับชื่อชั่วคราวมาจาก ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย หรือ Minor Planet Center (MPC) โดย “2024” จะหมายถึงปีที่ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ และตัวอักษร “Y” ตัวแรกระบุว่าค้นพบในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนธันวาคมในปีนั้น ส่วนตัวอักษรตัวที่สองและหมายเลขกำกับคือการแสดงลำดับของการกำหนดชื่อชั่วคราวที่กำหนดในครึ่งเดือนนั้น
ทุกปีมีการค้นพบวัตถุบนท้องฟ้าใกล้โลกใหม่ ๆ ประมาณ 3,000 ชิ้น แต่การจะพบดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใกล้เคียงกับ 2024 YR4 นั้นทำได้ยากกว่า เนื่องจากวัตถุเหล่านี้มีสีเข้ม มีขนาดเล็กกว่า และยากต่อการมองเห็นด้วยกล้องโทรทรรศน์ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่ามีวัตถุท้องฟ้าคล้ายหินประมาณ 600,000 ชิ้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อย แต่ ESA ระบุว่าพบเพียง 2% หรือ 12,000 ชิ้น เท่านั้น
“ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กพุ่งชนโลกอยู่ตลอดเวลา และสลายตัวจนลุกเป็นไฟในชั้นบรรยากาศ โชคดีที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นดินมากนัก ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่ามาก แต่ก็มีโอกาสพุ่งชนโลกน้อยกว่ามาก ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ยังมีอยู่อีกมากที่เรายังไม่สามารถค้นพบได้ ดังนั้นเราจึงเฝ้าติดตามท้องฟ้าทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะอยู่เหนือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น” แลร์รี เดนโน นักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายและนักวิจัยร่วมของกล้องโทรทรรศน์ ATLAS กล่าว














