8 สาเหตุอันตรายที่ทำให้ปวดหัวหลังตื่นนอน แล้วทำอย่างไรให้นอนหลับได้ดี ตื่นขึ้นมาไม่มีอาการปวดหัว
ทุกครั้งที่ตื่นนอนแล้วมีอาการปวดหัว รู้สึกปวดหัวทุกเช้า หรือ รู้สึกหนักหัวแทบลุกไม่ไหว เหมือนยังนอนไม่อิ่ม นั้นคืออาการบ่งบอกถึง “ความผิดปกติในการนอนหลับ” หากเกิดขึ้นในทุกเช้าหลังจากตื่นนอนจะเรียกว่า Early morning headache
อาการปวดหัวหลังตื่นนอน เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
1.นอนกรนตลอดทั้งคืน และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อตื่นนอนขึ้นมาอาจทำให้มีอาการปวดหัว ตึง ๆ มึน ๆ เพราะร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์คั่งหรือสูงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้เส้นเลือดขยาย ทำให้ปวดหัวตอนเช้า
2.นอนกัดฟัน ในระหว่างที่นอนหลับ ทำให้เกิดการเกร็งซ้ำ ๆ จนกล้ามเนื้อตึง เมื่อตื่นนอนแล้วจะปวดหัวในช่วงเช้าได้ กรณีนี้อาจสังเกตได้จากลักษณะของอาการปวดหัว ว่าเป็นการปวดแบบทื่อ ๆ และ อาจรู้สึกปวดกรามร่วมด้วย
3.พักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนน้อยเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดหัว โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่าง ไมเกรน มีโอกาสสูงที่อาการจะกำเริบมากกว่าเดิม
4.นอนเยอะเกินไป การนอนเกินกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน จะส่งผลต่อฮอร์โมนบางตัว ทำให้เลือดไหลไปยังสมองน้อยลงจึงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
5.โรคนอนไม่หลับ (insomnia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (chronic insomnia) เป็นหนึ่งในสาเหตุของการตื่นนอนแล้วปวดหัวในตอนเช้า
6.นอนหลับไม่เป็นเวลา ร่างกายมีระบบการทำงานที่สม่ำเสมอ เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานตรงตามเวลา ซึ่งนาฬิกาชีวภาพจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาการตื่นนอนและเข้านอน หากเวลาการนอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย ๆ ร่างกายจึงต้องมีการปรับตัว โดยการปรับตัวของร่างกายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการหดหรือขยายตัวของหลอดเลือด เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการตื่นนอน หรือ การเข้านอน จึงไปกระตุ้นให้หลังตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้า
7.ดื่มคาเฟอีน หรือ แอลกอฮอล์ก่อนนอน ทำให้เกิดการปวดหัว เวียนหัวหลังตื่นนอน เพราะเครื่องดื่มดังกล่าวจะมีส่งผลต่อการขยายหรือหดตัวของหลอดเลือดและยังกระตุ้นระบบประสาท
8.มีภาวะความเครียดสะสมจนเกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ เช่น ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ อาจนำไปสู่การปวดหัวและอาจส่งผลต่อการนอน
แก้ปัญหาอาการปวดหัวหลังตื่นนอน
1.เข้านอนให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับประมาณ 6-9 ชั่วโมง / วัน
2.ไม่นอนช่วงกลางวันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงกลางวันจนถึงพลบค่ำ ไม่ควรงีบหลับระหว่างวันนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรงีบหลับช่วงสั้น ๆ ให้ร่างกายพอสดชื่น
3.เลือกกินอาหารย่อยง่าย แต่ไม่ควรงดอาหารเย็น จะได้ไม่เกิดภาวะกรดไหลย้อนขณะนอน
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดใส ไม่เครียด เพื่อการพักผ่อนนอนหลับที่ดีและเพียงพอ หากเลือกได้ให้เปลี่ยนจากการออกกำลังกายช่วงเย็นหรือหัวค่ำ เปลี่ยนไปออกกำลังกายตอนเช้าแทน
5.ลด งด เลิก สูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารนิโคติน ที่ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และ ยังกดสมองทำให้ร่างกายไม่ง่วงนอน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนหลับไม่มีคุณภาพ ตื่นนอนแล้วปวดหัว
6.ลด งด เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงบ่ายแก่ ๆ จนถึงช่วงเย็น ควรงดเด็ดขาด เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้นอนหลับได้ยากขึ้น หรือ มีอาการกรน และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงขึ้น
อ้างอิงจาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/การ%B
8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99-
%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7
https://www.bkksleepcenter.com/early-morning-headache/



















