กระดูกสันหลังเสื่อม คนอายุน้อยเป็นกันมากขึ้น ไม่ต้องรอให้สูงวัยก็เสี่ยงได้
กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) คือ ภาวะการเสื่อมสภาพของกระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการติดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น การรับน้ำหนัก หรือการเคลื่อนไหวทำได้ไม่เหมือนปกติ
สาเหตุ
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างที่ถูกถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม เพราะในแต่ละคนอาจมีโครงสร้างที่ไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดความเสื่อมเร็ว และอาจเกิดการทรุดตัวของกระดูกได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะยังมีอายุน้อยอยู่
- อายุที่สูงขึ้น จะเกิดความเสื่อมของกระดูกตามธรรมชาติ
- การมีน้ำหนักตัวที่เยอะ ส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักเยอะกว่าปกติ ยิ่งก่อให้เกิดความเสื่อม
- กรรมพันธุ์ ตามความแข็งแรงของกระดูกในแต่ละบุคคล
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามการใช้งาน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนาน ๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกายเท่าที่ควร
- การแบก หรือสะพายของหนัก ๆ
- การนั่งทำงาน หรือเสพสื่อโซเชียลมีเดียหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ
- การก้ม-เงยศีรษะ ขณะเล่นโทรศัพท์
- การใส่รองเท้าส้นสูง
- การนอนท่าผิดปกติ และเลือกชุดเครื่องนอนที่ไม่เหมาะสม
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
อาการกระดูกสันหลังเสื่อม
- ปวดหลังร้าวลงขา การกดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน เมื่อเป็นมากจะยกแขนได้ลำบาก และรู้สึกชาตลอดเวลา
- ปวดคอร้าวลงแขน เกิดการกดทับเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน หากมีอาการมากจะส่งผลให้ยกแขนลำบาก และรู้สึกแขนชาตลอดเวลา
- เคลื่อนไหวได้น้อยลง อย่างเช่น หลังแข็งตึง ก้มเงยลำบาก จากความหยืดหยุ่นที่ลดลง และข้อที่ขยับได้น้อยลง อาจใช้เวลาในการขยับนานมากกว่าปกติ กระดูกสันหลังติดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก
- การเดินลำบาก คล้ายจะหกล้มตลอด โดยเฉพาะเมื่อต้องขึ้น-ลงบันได จากการเบียด หรือกดทับเส้นประสาท และไขสันหลังอย่างรุนแรง
- ลักษณะของโครงสร้างของหลังเปลี่ยนไป และหากเริ่มเปลี่ยนไปมากๆ ก็อาจเกิดการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังได้
การป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อม
- หลีกเลี่ยงลักษณะท่าทาง หรืออิริยาบถต่าง ๆ อย่างเช่น ก้ม-เงยบ่อย นั่ง หรือนอน ท่าเดิมเป็นเวลานาน ยกของหนัก
- สิ่งที่ควรปฏิบัติ อย่างเช่น พักสายตาในระหว่างอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ นั่งหลังตรง และใช้เบาะเพื่อรองรับน้ำหนักที่บั้นเอว ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดีกับสายตา
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้หลังบาดเจ็บ ยืด เหยียด อบอุ่นร่างกาย ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา















