เมื่อฮอร์โมนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุข แนะนำ 8 เคล็ดลับ สร้างเสริมฮอร์โมนความสุขให้กับตัวเอง
งานวิจัยเรื่อง “ความสุข” ที่ยาวนานที่สุดในโลก
มีงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร ของ Robert Waldinger ที่ได้นำเสนอผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ใช้เวลาศึกษากว่า 75 ปี โดยศึกษาชีวิตของอาสาสมัครกว่า 724 คน รวมถึงคู่สมรสและลูกหลานอีกกว่า 2,000 คน ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปอย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดช่วยให้คนมีสุขภาพดี มีความสุข ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และ ได้รับการยอมรับในสังคม จะช่วยยืดเวลาให้เราแก่ช้าลง อีกนัยคือช่วยให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น
8 เคล็ดลับสร้างฮอร์โมนแห่งความสุข ให้ตัวเอง
1.การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อม ยังสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น
- โดพามีน (Dopamine) ฮอร์โมนทำให้รู้สึกดี หากมีรูปร่างหรือน้ำหนักเป็นไปตามเป้าหมาย จะยิ่งทำให้ฮอร์โมนชนิดนี้หลั่งออกมามากขึ้น
- เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า
- เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนแห่งความสุขที่สามารถลดอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บได้ เพราะมีโครงสร้างทางเคมีบางส่วน คล้ายมอร์ฟีนที่เป็นยาแก้ปวด
2.กิจกรรมพาสุข รอยยิ้มช่วยคลายเศร้า
การได้ออกไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ การนวดผ่อนคลาย การหากิจกรรมที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก ก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลายจาก งานประจำ ปัญหาที่พบเจอ นอกจากนั้นการฝืนยิ้มกับตัวเองในยามที่เจอปัญหา จะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ที่ชื่อ เซโรโทนินและเอนดอร์ฟิน ออกมา
3.รับแสงแดดอ่อนๆ
การให้ร่างกายได้รับแสงแดด ตอนเช้าตรู่ หรือ ช่วงเย็น (ที่ไม่ใช่ช่วง 10.00-15.00 น.) ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนังเช่นกัน วิตามินดีนอกจากจะช่วยในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก กระตุ้นภูมิต้านทาน ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ทางอ้อม ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า
4.กินดาร์กช็อกโกแลต
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่กินดาร์กช็อกโกแลตประมาณ 50-100 กรัม ( ให้พลังงาน 300-600 แคลอรี่) 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่กินเลย เนื่องจากสารสำคัญในช็อกโกแลตช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดสมดุล เสริมความแข็งแรงของหลอดเลือดหัวใจ การกินช็อกโกแลตให้มีประโยชน์สูงสุด ควรเลือกดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) ที่ผลิตจากผลโกโก้ที่ได้มาตรฐาน คือ มีปริมาณของโกโก้สูง 70-85% ควรกินช็อกโกแลตในปริมาณที่เหมาะสม
5.เน้นอาหารที่เป็นแหล่งทริปโตเฟน
ทริปโตเฟน (Tryptophan) คือ กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นกรดอะมิโนจำเป็น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารอื่น พบได้ในนม เนย ไข่แดง เนื้อสัตว์ ปลา ไก่งวง ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ อินทผลัมแห้ง กล้วย คอตเทจชีส (Cottage Cheese) และ อาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด ร่างกายสามารถนำไปใช้สร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารสื่อประสาทที่ช่วยทำให้เรามีความสุข นอกจากนั้น ทริปโตเฟนยังทำงานร่วมกับกรดโฟลิกและธาตุเหล็กในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงด้วย
6.เล่นกับสัตว์เลี้ยง
ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจะมีความเครียดสะสมน้อย การเล่นกับสุนัข แมว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงได้ อาจช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความสุขได้หลายชนิด เช่น เซโรโทนิน และ ออกซิโตซิน ( Oxytocin คือฮอร์โมนที่เกิดจากความรักและความผูกพันธ์)
7.สัมผัส กอด จูบ คนที่เรารัก
การสัมผัส กอด จูบในมนุษย์ ทางพฤติกรรมสื่อถึงการแสดงออกในเรื่องของความรัก ความเมตตา ความปรองดอง และความใคร่ ที่มักจะทำกับคนรัก ซึ่งส่งผลให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาได้หลายชนิด เช่น
- ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ความเคลิบเคลิ้ม
- ฮอร์โมน โดพามีน (Dopamine) ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อเราเจอสิ่งที่พอใจ ทำให้เราเกิดความรู้สึก สุข สนุก ใจเต้นแรง
- ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน สร้างความรักเดียวใจเดียว
8.การทำสมาธิ
สมาธิ เป็นวิธีแห่งการพักใจหลังจากเจออารมณ์ต่าง ๆ ที่สะสมมาทั้งวัน ซึ่งหลายครั้งเป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่พอได้หลับตาผ่อนคลาย หายใจยาว ๆ เข้าออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดถึงสิ่งใด อารมณ์ก็ผ่อนคลายได้อย่างน่าประหลาด เรื่องที่เกาะกุมจิตใจจะค่อย ๆ หลุดออกไปทีละนิด บางครั้งเมื่อได้มีเวลาอยู่กับตัวเองในสมาธิ จะทำให้มองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ และตั้งรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามาทดสอบจิตใจได้ดียิ่งขึ้น เพราะหลังจากนั่งสมาธิไปสักระยะ อย่างน้อย 30 นาที ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่หลั่งออกมาเวลาเครียด จะลดลง ซึ่งเกิดจากผลของ ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) หลั่งออกมาหลังจากนั่งสมาธิ สารตัวนี้นอกจากจะเป็นสารแห่งความสุขแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายสดชื่น อ่อนเยาว์ มีภูมิต้านทานโรค ปรับคลื่นสมอง ช่วยให้นอนหลับสบาย
นิยามความสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เช่น การได้ทำในสิ่งที่ต้องการ การมีอิสระที่จะเลือกทางเดินในชีวิต การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวและได้รับการยอมรับจากคนใกล้ชิด ความรู้สึกพอใจในสิ่งที่เป็น ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร การมีจิตใจที่สงบ ไม่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรค ได้พัฒนาตนเองตามเป้าหมายในชีวิตและคิดเชิงบวก การมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยบ่อย ไม่เป็นโรคร้ายแรง เพียงแค่เข้าใจความต้องการขอตนก็จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตได้
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102029.x4fi04nrbxn.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1101/1101819.x4cg7mj489j.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102030.x4fi0hmvamj.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102028.x4fhxl1dh9ef.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102025.x4fhto1m6013.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102027.x4fhwt19arld.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102024.x4feho1ulc1f.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102021.x4fbo21fnb8g.n2.webp)
![](https://us-fbcloud.net/hottopic/data/1102/1102030.x4fi0hmvamj.n2.webp)