นักวิทยาศาสตร์เผย การล้างกระบอกน้ำแบบไม่ดีพอหรือผิดวิธี จะสกปรกไม่ต่างจากฝารองนั่งชักโครกเลยทีเดียว
บริษัทกรองน้ำ WaterFilterGuru.com ของสหรัฐ ได้ศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้างที่อาศัยอยู่ในภาชนะที่เราใช้จิบน้ำตลอดวันและทุกวัน พวกเขาใช้ก้านสำลีเช็ดขวดน้ำแบบต่าง ๆ เช่น ฝาจุก ฝาเกลียว ฝาแบบเสียบหลอด และฝาที่มีช่องบีบน้ำใส่ปากได้เลย รวมถึงก๊อกน้ำ เพื่อดูว่าจะพบแบคทีเรียอะไรบ้างในแต่ละรายการ ปรากฏว่า นักวิจัยพบแบคทีเรีย 2 ประเภท ได้แก่
แบคทีเรียแกรมลบแบบแท่งและแบคทีเรียบาซิลลัส โดยแบคทีเรียแกรมลบสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ในขณะที่แบคทีเรียบาซิลลัสบางชนิดอาจทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหารได้
ผลจากการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ขวดน้ำแบบเติมจะมีโคโลนีจุลินทรีย์เป็นจำนวนมาก (หน่วยนับเป็น CFU) ซึ่งเป็นการประมาณจากจำนวนจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวอย่าง ขวดน้ำคู่ใจของเราได้รับการประเมินว่าอาจมีแบคทีเรียมากถึง 20.8 ล้าน CFU แต่ขวดแบบฝาจุกและฝาเกลียวจะมีปริมาณสูงถึง 30 ล้าน CFU ส่วนก๊อกน้ำที่ทดสอบก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ในขณะที่ขวดที่ใช้ฝาแบบมีช่องบีบน้ำใส่ปากมีแบคทีเรียเพียง 3 ล้าน CFU ทีมนักวิจัยยังทำการเปรียบเทียบจำนวนของแบคทีเรียในขวดน้ำเหล่านี้กับเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้าน
ซึ่งปรากฏว่า แบคทีเรียจากขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้มีจำนวนมากกว่าที่พบในฝารองนั่งชักโครกถึง 40,000 เท่า, มากกว่าถ้วยอาหารสัตว์เลี้ยง 14 เท่าและมากกว่าเมาส์คอมพิวเตอร์ 5 เท่า วิธีแก้ไขก็คือต้องทำความสะอาดขวดน้ำเหล่านี้ทุกวันและทำอย่างถูกต้อง เพื่อกำจัดแบคทีเรียให้มากที่สุด
ดร.พริมโรส ฟรีสโตน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า เราควรทำความสะอาดขวดด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 60°C เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่จะตายเมื่อโดนความร้อนระดับนี้ เริ่มจากเติมน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาล้างจานลงไปในขวด หมุนขวดไปมา แล้วทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำร้อน ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท เพราะขวดที่แห้งสนิทจะช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้