ที่ประเทศรวันดา สิ่งผิดกฏหมายที่ถูกลักลอบนำเข้าประเทศมากที่สุดไม่ใช่ยาเสพติดหรืออะไร แต่เป็น ถุงพลาสติก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 รัฐบาลรวันดาในทวีปแอฟริกา มีคำสั่งห้ามใช้ ห้ามผลิต ห้ามซื้อ ห้ามขายถุง และหีบห่อพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติยกเว้นสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นโรงพยาบาล แม้เรื่องนี้จะทำให้รวันดากลายเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด กรุงคิกาลี เมืองหลวงของประเทศยังได้รับเลือกจาก UN Habitat ให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่ถึงอย่างนั้นความต้องการถุงพลาสติกไม่เคยหมดไป โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่น ตลอดมืดจึงเป็นปัญหาที่ไม่เคยหมดไปตลอด 10 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งห้าม ถุงพลาสติกเลวร้ายพอกับยาเสพติด
Egide Mberabagabo เจ้าหน้าที่ประจำแนวชายแดนที่คอยตรวจจับถุงพลาสติกที่มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามผลิตห้ามใช้ถุงพลาสติกทั้งคองโก แทนซาเนีย ยูกันดา และบุรุนดี ผู้ลักลอบส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ใช้วิธีซุกถุงพลาสติกไว้ในชุดชั้นในทำให้ยากต่อการตรวจค้น กฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน
แต่มีรายงานว่าบางคนถูกจับขังลืม ถูกประจาน ถูกสั่งให้ใช้ฟันกัดฉีกทำลายถุงพลาสติกที่ตรวจพบ หรือแม้กระทั่งต้องยอมมีเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับอิสรภาพ แม้จะมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงแต่หลายคนก็ยอมเสี่ยง เพราะงานง่ายรายได้งาม ชายอายุ 28 ปีคนหนึ่ง รับจ้างข้ามไปซื้อถุงพลาสติกที่คองโก โดยใช้เทปกาวพันถุงพลาสติกไว้รอบแขน ขาและลำตัวก่อนสวมเสื้อกับผ้านุ่งทับเพื่ออำพราง
ถ้าสามารถนำถุงพลาสติกไปส่งที่กรุงคิกาลีซึ่งอยู่ห่างจากแนวพรมแดนประมาณ 160 กม.ได้ ก็จะได้ค่าตอบแทนครั้งละประมาณ 300-1,000 บาทซึ่งพอๆ กับค่าแรงเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ในรวันดาเลยทีเดียว Carina Tertsakian นักวิจัยอาวุโสประจำ Human Right Watch มองว่านโยบายทำให้ประเทศปลอดถุงพลาสติกฟังดูดีแต่การออกคำสั่งห้ามแบบฉับพลันและกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับคนยากจน แนวทางของรัฐบาลรวันดานอกจากจะกำจัดขยะตามท้องถนนแล้วยังทำให้เศษสวะคนจนหายไปด้วย”