รู้จักดอกโบตั๋น ที่ไม่ใช่แค่ดอกไม้ แต่คือสมบัติทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
( https://www.mushroomtravel.com/page/luoyang-peony-festival-china/ )
เมื่อพูดถึงดอกโบตั๋น คุณรู้จักดอกไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ดอกไม้แห่งความมั่งคั่งในโลกมนุษย์" นี้ดีแค่ไหน?
อันดับแรก มาพูดถึงสีของดอกโบตั๋นกันก่อน
ดอกโบตั๋นนั้น นอกจากสีแดง สีชมพู สีขาว และสีเหลืองที่เราเห็นกันบ่อยๆ แล้ว ยังมีสีฟ้า สีม่วง สีเขียว และสีดำด้วย หากสงสัยว่าจะหาดอกโบตั๋นหลากสีเหล่านี้ได้จากที่ไหน มาร่วมเดินทางไปกับเราเพื่อสำรวจ "สวนดอกโบตั๋นแห่งชาติ" กันเถอะ
สวนดอกโบตั๋นแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน มีทรัพยากรพันธุกรรมของดอกโบตั๋นทั้งในและต่างประเทศรวม 1,362 ชนิด และมีการปลูกดอกโบตั๋นกว่า 2 ล้านต้น ครอบคลุมถึง 9 สายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติและ 8 กลุ่มพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาทางพฤกษศาสตร์จากทั่วโลก เป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่ใช้ในการอนุรักษ์พันธุ์โบตั๋นในรูปแบบต้นจริง การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
คราวนี้มาพูดถึงชื่อของดอกโบตั๋นกันบ้าง
ชื่ออย่าง เย่ว์จิ่น (月锦), เหยาหวง (姚黄), โตวลวี่ (豆绿), ลั่วหยางหง (洛阳红), จิ่นซิ่วฟู่หรง (锦绣芙蓉), เฮยไห่หานจิน (黑海含金), และ ชิงหลงว่อโม่ฉือ (青龙卧墨池) ล้วนเป็นชื่อที่สะท้อนกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจน ชื่อเหล่านี้ล้วนบอกเราว่าดอกโบตั๋นมีต้นกำเนิดในประเทศจีน และลั่วหยาง ซึ่งเป็นหนึ่งในถิ่นกำเนิดของดอกโบตั๋นในจีน มีประวัติการปลูกดอกโบตั๋นนานกว่า 1,500 ปี
ที่ลานทางเหนือของพิพิธภัณฑ์ดอกโบตั๋นในลั่วหยาง มีการจัดแสดง “การฟื้นฟูการแต่งกายแบบดั้งเดิมในธีมโบตั๋น” ซึ่งใช้ต้นแบบจากเครื่องแต่งกายของตุ๊กตาดินเผาที่ถูกขุดพบจำนวน 30 ชิ้น พร้อมทั้งผสมผสานฉากจากภาพวาดจีนโบราณ เช่น "บทกวีลั่วเสิน" (洛神赋图) และ "ภาพสตรีเสียบปิ่นดอกไม้" (簪花仕女图) เพื่อแสดงความงดงามของวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมของจีน
ดอกโบตั๋นแห่งลั่วหยาง มีความงามโดดเด่น เริ่มปลูกมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์สุย รุ่งเรืองในราชวงศ์ถัง และเป็นที่หนึ่งในโลกในยุคราชวงศ์ซ่ง กวีราชวงศ์ถังอย่าง หลิวอวี่สี่ (刘禹锡), หลี่ซางอิ่น (李商隐), สวี่หนิง (徐凝), และ หลี่เจิ้งเฟิง (李正封) ต่างยกย่องดอกโบตั๋นว่าเป็น “โฉมงามแห่งแผ่นดิน” (国色)
ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง นอกจากมีบทกวีมากมายเกี่ยวกับดอกโบตั๋น ยังมีหนังสือเฉพาะทาง เช่น "บันทึกดอกโบตั๋นแห่งลั่วหยาง" (洛阳牡丹记) ของ โอวหยางซิว (欧阳修) และ "สารานุกรมดอกโบตั๋นแห่งเทียนเผิง" (天彭牡丹谱) ของ ลู่โหยว (陆游)
นอกจากนี้ ด้วยความงามของรูปทรงและสีสันที่ทั้งสดใสและสง่างาม ดอกโบตั๋นจึงเป็นแรงบันดาลใจที่ศิลปินจีนเลือกวาดบ่อยครั้ง พูดได้ว่าดอกโบตั๋นได้ "ปรากฏตัว" อย่างโดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนอยู่เสมอ
(http://www.xinhuanet.com/politics/2021-04/28/c_1127387487.htm)
ต่อไปเรามาพูดถึงเรื่อง “การร่วงโรยและการเบ่งบาน” ของดอกโบตั๋นกันบ้าง
สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือ ในช่วงต้นยุคสาธารณรัฐจีน (ช่วงต้นศตวรรษที่ 20) เนื่องจากขาดระบบและองค์กรสำหรับการอนุรักษ์พันธุกรรมพันธุ์ดอกโบตั๋น พันธุ์ดอกโบตั๋นในลั่วหยางเหลืออยู่เพียง 50 กว่าสายพันธุ์เท่านั้น ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960 พันธุ์ดอกโบตั๋นจึงฟื้นฟูขึ้นมาได้เพียง 100 กว่าสายพันธุ์
จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม ปี 1992 กระทรวงป่าไม้แห่งชาติจีนในขณะนั้นได้จัดตั้ง ธนาคารยีนดอกโบตั๋นแห่งชาติ ขึ้นที่เขตเพาะกล้านอกเมืองลั่วหยาง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บรักษาทรัพยากรพันธุกรรมดอกโบตั๋นในรูปแบบต้นจริง รวมถึงการเก็บรักษาและจัดการข้อมูลพันธุกรรม ทรัพยากรชีวภาพ และข้อมูลยีนของดอกโบตั๋น นับเป็นการเริ่มต้นโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดอกโบตั๋นอย่างจริงจัง
เจิ้งหงเซี่ย เจ้าหน้าที่เทคนิคของสวนดอกโบตั๋นแห่งชาติ มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับดอกโบตั๋น และสามารถจำพันธุ์ต่างๆ ได้เพียงแค่ดูทรงต้นและใบ ปัจจุบัน ภายใต้การดูแลของเธอ ดอกโบตั๋นสามารถควบคุมเวลาในการบานและร่วงโรยได้ตามต้องการ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสามารถเห็นความงามของดอกโบตั๋นได้ตลอดเวลา แม้จะพลาดช่วงเวลาเบ่งบานธรรมชาติ
ดอกโบตั๋น ไม่ได้เป็นแค่ "ดอกไม้ตกแต่ง" ในบทกวีเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง ในลั่วหยางตั้งแต่ปี 1983 ได้เริ่มจัดงานเทศกาลดอกโบตั๋น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานเทศกาลนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 20,000 ล้านหยวน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดอกโบตั๋นของลั่วหยางยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการปลูกดอกโบตั๋นไปสู่การผลิตน้ำมันเมล็ดโบตั๋น อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดอกโบตั๋น และศิลปะดอกโบตั๋น ทำให้ดอกโบตั๋นกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 340 รายการ และในปี 2019 รายได้จากอุตสาหกรรมดอกโบตั๋นสูงถึง 28,000 ล้านหยวน
ดอกโบตั๋นจึงไม่เพียงแต่สวยงามแต่ยังมี "ความแข็งแกร่ง" ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน