จากผลการสำรวจพบว่า วัยรุ่นไทยใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าปีละมากกว่า 20,000 บาท หวั่นเลียนแบบพฤติกรรมตัวละครในทีวี
โดยเป็นการเปิดเผยของ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (1 มกราคม 2568) ถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทย พบกว่าครึ่งได้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากครอบครัว สูญเสียเงินซื้อสูงปีละ 26,944 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท ห่วงตัวละครผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์มีผลต่อการตัดสินใจ รัฐบาล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ชวนวัยรุ่นไทยเริ่มต้นปีใหม่นี้ เปลี่ยนเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเงินออม ชี้ 30 ปี ได้เงินเก็บถึง 1.8 ล้านบาท ทั้งนี้ จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยปี 2565 พบว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3% เป็น 17.6% หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า นายอนุกูล กล่าวว่า ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนใน กทม. จำนวน 400 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 13-24 ปี ซึ่งเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 56.5% ได้รับเงินจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง 87.75% มีรายได้ระหว่าง 500-2,000 บาท/สัปดาห์ สำหรับเงินที่นำมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 54.50% ได้จากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงถึงปีละ 26,944 บาท หรือเดือนละ 2,245 บาท 73% ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้า 501-1,000 บาท/สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับกิจการภาพยนตร์หรือละครทางโทรทัศน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ปล่อยให้มีตัวละครในภาพยนตร์หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึงมากที่สุด 16.25% และปานกลาง 38.25% เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 54.50% ตอกย้ำได้ว่า สื่อบุคคลอย่างผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์หรือตัวละครในภาพยนตร์มีผลต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน