โลกร้อน โลกจะแตกไหม? ความวิตกกังวลจากปัญหาสิ่งแวดล้อม Climate Anxiety หรือ Eco-Anxiety รู้สึกเหมือนอนาคตตัวเองกำลังจะ “มอดไหม้” ไปพร้อมกับโลกใบนี้
Climate Anxiety หรือ Eco-Anxiety เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความทุกข์ที่เกิดจากการคิดถึงเรื่องการล่มสลายของสิ่งแวดล้อม
ภาวะนี้ไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นความวิตกกังวลที่เกิดจากความไม่แน่นอนของอนาคต และมักตามมาพร้อมความรู้สึกเศร้า โกรธ รู้สึกผิด รวมถึงความละอายใจ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และความคิดของผู้คน ทำให้บางครั้งเกิดความกลัวหรือสับสน จนบางคนถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะคิดวนแต่เรื่อง “โลกจะแตกไหมนะ?” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ทำอะไรเลย?” หรือเกือบจะเขียนจดหมายลาโลกไปแล้ว
เช็กลิสต์สุขภาพจิต กำลังเข้าขั้น Climate Anxiety หรือตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลจากโลกร้อนอยู่หรือเปล่า?
- เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้เสียสมาธิ
- เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้นอนไม่หลับ
- ฝันร้ายเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน
- ร้องไห้เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน
- โทษตัวเองที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนได้
- เขียนความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและวิเคราะห์มัน
- ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ไม่มีความสุขกับครอบครัวหรือเพื่อน
- ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนรบกวนการทำงาน
- เพื่อนบอกกับเราว่าคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนมากเกินไป
วิธีรับมือกับความกังวล
1.เสพข่าวสารแบบมีสติ เลือกรับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และไม่ดูข่าวซ้ำ ๆ ที่จะทำให้จิตใจเราร้อนกว่าอากาศข้างนอก ควรจะมีขอบเขตในการเสพข่าวให้เหมาะสม ฝึกไตร่ตรอง หรือ วิเคราะห์ข่าว บทความออนไลน์ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเลือกรับเฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์ต่อเรา และไม่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลมากไปกับการรับผิดชอบร่วมกันในปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้
2.ทำในสิ่งที่ควบคุมได้ สามารถทำให้การใช้ชีวิตมีผลกระทบต่อโลกในทางที่ดีขึ้นได้ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือ การใช้ชีวิตของตัวเอง ค่อย ๆ เปลี่ยนให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น อย่างเช่น การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถที่ปล่อยมลพิษ การหยุดใช้พลาสติกหากไม่จำเป็น แม้จะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็เหมือนการกินอาหารเสริมให้ใจเราแข็งแรงขึ้น
3.ร่วมกิจกรรมเพื่อโลก ลองออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ ที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน อย่างเช่น การปลูกต้นไม้ หรือการทำจิตอาสาในชุมชน การได้เห็นความพยายามที่จะทำให้โลกดีขึ้น เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ในการรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมในอนาคต ช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และยังช่วยลดความวิตกกังวลได้ด้วย
4.ปล่อยใจให้ไปกับธรรมชาติ อย่าไปคิดว่าการท่องเที่ยวคือการไปนั่งดูหนังในห้างที่มีแอร์เย็น ๆ เท่านั้น บางครั้งการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือการท่องเที่ยวในธรรมชาติจะช่วยให้คลายเครียดได้ดี
5.พยายามส่งเสียงไปถึงภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ผลิตทั้งหลาย ให้ลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจังไปด้วยกัน ภาครัฐควรเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดความยั่งยืนหรือเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการก่อมลพิษจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ