ผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 10 ปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไปมากถึง 40%
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวซินหัวจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในวันนี้ (14 ธันวาคม 2567) ว่าผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ภาคการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 40% ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี จนถึงปี 2562 โดยผลการวิจัยระบุว่าการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณรวมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 3.7 กิกะตัน เมื่อปี 2552 เป็น 5.2 กิกะตันในปี 2562 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากถึง 40.5% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว อัตราการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยว อยู่ที่ 3.5% ต่อปี โดยพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกแหล่งต้นตอทั่วโลก เพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี จาก 50.9 กิกะตัน เมื่อปี 2552 เป็น 59.1 กิกะตัน ในปี 2562 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวครองสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8.8% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก เมื่อปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 7.2% เมื่อปี 2552 ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแรงผลักดันให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น อนึ่ง คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยกริฟฟิต มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย รวมถึงมหาวิทยาลัยลินเนียของสวีเดน ร่วมกันติดตามการเดินทางระหว่างประเทศ และภายในประเทศใน 175 ประเทศ คณะนักวิจัยได้แนะนำหลายมาตรการ เพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การลดเที่ยวบินระยะไกล การเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ การกำหนดงบประมาณคาร์บอน และกำหนดภาระผูกพันด้านเชื้อเพลิงทางเลือกให้สายการบินรับผิดชอบ ส่วนในระดับท้องถิ่น คณะนักวิจัยเสนอว่า ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวสามารถหันมาใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับที่พัก อาหาร และกิจกรรมความบันเทิง ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งแทนได้.