การเลี้ยงลูกหลานด้วยคำขู่ ความเสียหายที่ผู้ปกครองอาจคาดไม่ถึง
การขู่ให้เด็กกลัวเป็นหนึ่งวิธีการเลี้ยงลูกหลานแบบผิด ๆ ที่ผู้ปกครองหลายคนอาจยังไม่รู้ตัว ว่านั่นคือการทำร้ายเด็กทางอ้อม แม้ช่วงแรกการขู่จะใช้ได้ผล เด็กเชื่อฟัง แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อตัวเด็กอย่างคาดไม่ถึง
1.กลัวจนเสียโอกาส
เด็กวัย 2-5 ขวบ กำลังอยากรู้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ เริ่มเข้าใจภาษาพูดและพฤติกรรมของคนรอบข้าง หากผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยการขู่บ่อย ๆ จะทำให้ความอยากเรียนรู้หายไปเพราะ เกิดความกลัวเข้ามาปิดกั้น ตามธรรมชาติของเด็กหากเกิดความกลัวจะไม่กล้าเข้าไปสำรวจ ไม่กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ แม้สิ่งนั้นจะไม่อันตราย จนทำให้เด็กเสียโอกาสหลายอย่างเพราะ ถูกตั้งกรอบความกลัวรอบตัวโดยไม่รู้ตัว
2.ส่งผลต่อการเรียน
การขู่ลูกหลานตั้งแต่เด็กจะทำให้การอยากเรียนรู้หายไป เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ความอยากเรียนความกระตือรือร้นจะน้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เพราะจะรู้สึกว่าไม่สนุกกับการเรียน ไม่เกิดความสงสัยและไม่พยายามหาคำตอบ ส่วนใหญ่เด็กที่เรียนหนังสือได้ดีจะเรียนเพราะอยากรู้ ดังนั้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความฉลาดของเด็กเป็นอย่างมาก
3.ไม่กล้าเข้าสังคม
นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความกลัวจนเสียโอกาสและไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ยังมีผลทำให้เด็กมีอาการวิตกกังวล ไม่กล้าเข้าสังคม เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่หวาดระแวง และ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับเพื่อน บางรายอาจจะหนักถึงขั้นเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่จะมีปัญหาหย่าร้างและไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตคู่
4.เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
ลูกเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนสิ่งที่พ่อแม่ทำ หากพ่อแม่ขู่ลูกด้วยคำพูดที่รุนแรง ก้าวร้าว เด็กจะเกิดการลอกเลียนแบบ ทำให้เมื่อโตขึ้นอาจมีนิสัยก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง เนื่องจากถูกปลูกฝังด้วยคำขู่มาตั้งแต่เด็ก ๆ หรือ อีกกรณีหนึ่งคือ เด็กที่เริ่มเข้าใจภาษาพูดของพ่อแม่จะเรียนรู้ได้ว่าคำขู่เหล่านั้นไม่เกิดขึ้นจริง เป็นแค่คำขู่ที่สร้างขึ้นมา ทำให้ไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ ส่งผลให้อำนาจการต่อรองของพ่อแม่ลดลง ในระยะยาวเด็กจะไม่เชื่อฟังและแสดงอาการต่อต้านที่ก้าวร้าวมากขึ้น
พื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตไปเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง จะเกิดจากความปลอดภัย และ ความมั่นคงทางจิตใจ เด็กที่ถูกผู้ปกครองข่มขู่บ่อย ๆ เด็กคนนั้นจะเติบโตมาพร้อมกับความกลัว และ ความรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลให้เด็กอาจกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เปราะบางกับสิ่งที่เข้ามากระทบ มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางจิตใจได้ง่าย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า
อำนาจของผู้ปกครองไม่ควรได้มาจากความกลัว แต่ ควรได้มาจากความรักความเคารพที่เด็กมีให้ ดังนั้นผู้ปกครองควรที่จะสั่งสอนเด็กด้วยการพูดคุยและใช้เหตุผลตามความเป็นจริง สอนเด็กด้วยความเมตตาและอ่อนโยน เพื่อเป็นการให้เด็กได้ซึมซับพฤติกรรมดี ๆ ให้เด็กมีรากฐานที่เหมาะสม ที่ปลอดภัย เหมาะกับการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง