ดื่มกาแฟแล้วปวดอึ ไขข้อข้องใจ เป็นเพราะอะไร
ดื่มกาแฟ แล้วปวดอึ คาเฟอีนเกี่ยวข้องกับการทำงานของลำไส้
ปี 1998 นักวิจัยได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 12 คน ให้แต่ละคนทานอาหารแตกต่างกันเช่น กาแฟธรรมดา กาแฟสังเคราะห์ไร้คาเฟอีน น้ำเปล่า และอาหารมื้อหนัก 1,000 แคลอรี หลังแต่ละคนรับประทานอาหารที่จัดให้แล้ว ทางทีมวิจัยก็เริ่มตรวจสอบการทำงานของลำไส้ใหญ่ ด้วย มาโนมิเตอร์ (manometer) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดระดับแรงดัน เพื่อสำรวจการทำงานของลำไส้ใหญ่ หลังจากอาหารผ่านกระบวนการย่อยแล้วส่งผ่านลำไส้ใหญ่ไปยังทวารหนัก
ทีมวิจัย พบคำตอบแรกว่า กาแฟ สามารถกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานได้เทียบเท่ากับอาหารจำนวน 1,000 แคลอรี แต่สำหรับกาแฟไร้คาเฟอีนนั้น ลำไส้ใหญ่จะทำงานน้อยลง แต่ก็ยังมีผลต่อลำไส้ใหญ่มากกว่าน้ำเปล่า การทดสอบนี้สามารถยืนยันได้ว่า คาเฟอีนในกาแฟนั้นมีผลกระตุ้นการขับถ่าย แต่ก็ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุที่แน่ชัด
ปี 1999 มีการวิจัยอีกครั้ง แล้วได้ข้อยืนยันเพิ่มเติมว่า “คาเฟอีนไม่ใช่ตัวการหลักที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร”
ปี 2008 นักวิจัยทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 10 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้ดื่มน้ำเปล่า กับน้ำเปล่าผสมผงคาเฟอีน แล้วก็ใช้มาโนมิเตอร์ สำรวจการทำงานของทวารหนัก พบว่า กลุ่มที่ดื่มคาเฟอีนนั้น กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะหดตัวอย่างเห็นได้ชัด แล้วความต้องการขับถ่ายของเสียก็เพิ่มมากขึ้น
จากการศึกษาหลาย ๆ ชิ้น พบว่า คาเฟอีนจะไปกระตุ้นการหดตัวของลำไส้ใหญ่และกล้ามเนื้อภายในบริเวณลำไส้ ซึ่งการหดตัวของลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ของเสียภายในลำไส้ถูกขับไปที่ปลายลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของระบบทางเดินอาหาร หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทำให้ปวดอึนั่นเอง
กาแฟมีส่วนช่วยกระตุ้นฮอร์โมนได้
กาแฟมีส่วนช่วยกระตุ้นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงอาหาร อย่างเช่น กาแฟมีส่วนช่วยเพิ่มฮอร์โมนแกสตริน (gastrin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น งานวิจัย พบว่า การดื่มกาแฟช่วยเพิ่มการทำงานของระบบขับถ่ายได้ดีกว่าการดื่มน้ำ 2.3 เท่า นอกจากนี้ยังไปช่วยเพิ่มการทำงานของฮอร์โมนคอเลซิสโทไคนิน (cholecystokinin หรือ CCK) ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเซลล์ของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการหดตัวของถุงน้ำดี ทำให้เกิดการหลั่งน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก ส่งผลให้ร่างกายต้องการขับของเสียออก
ดื่มกาแฟ แล้วปวดอึกันทุกคนไหม
จากการวิจัยพบว่า มีคนร้อยละ 29 ที่จะเกิดอาการปวดอึหลังจากดื่มกาแฟเข้าไปได้ประมาณ 20 นาที จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงจำนวนร้อยละ 53 มีอาการปวดอึหลังจากดื่มกาแฟได้ 20 นาที เนื่องจากผู้หญิงจะมีความไวต่อระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหาร มากกว่า ผู้ชาย ผู้ที่ดื่มกาแฟแล้วมีอาการปวดอึนั้น ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเกิดอาการ อาจเกิดได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น
นมหรือครีม ในกาแฟอาจมีส่วนช่วยในการขับถ่าย
คนอเมริกานั้นส่วนใหญ่แล้วมักจะเติมสารปรุงแต่งอื่น ๆ ลงในกาแฟ อย่างเช่น น้ำตาล นม ครีม ส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในนมและครีม มีแลตโตส ซึ่งคนร้อยละ 65 ทั่วโลกนั้นไม่สามารถย่อยแลคโตสได้อย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายจำเป็นต้องขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ