วิธีรับมืออาการ "หูอื้อ"
หูอื้อ คือ การได้ยินเสียงที่ลดน้อยลงจากปกติ หรือ มีเสียงในหู อาจเกิดได้กับหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน
หูชั้นนอก ประกอบด้วยใบหูและรูหู หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันบริเวณนี้ เช่น มีขี้หู มีน้ำในหู จะทำให้หูอื้อได้
หูชั้นกลาง ประกอบด้วยแก้วหู และ กระดูกเล็ก ๆ 3 ชิ้น หากแก้วหูทะลุ มีการอักเสบ มีน้ำขังในหู อาจทำให้หูอื้อได้เช่นกัน
หูชั้นใน ประกอบด้วยอวัยวะรับฟังเสียงรูปก้นหอยและเส้นประสาทหู หากมีการเสื่อมหรือบาดเจ็บก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการหูอื้อ
สาเหตุของหูอื้อ
อาการหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนการนำเสียง และ ส่วนประสาทการรับฟังเสียง
1.หูอื้อจากส่วนนำเสียงบกพร่อง อาจเกิดจากการมีขี้หู น้ำในหู มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างใน แล้วเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือ เกิดแก้วหูทะลุ
2.หูอื้อจากประสาทการรับฟังเสียง สังเกตได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น การได้ยินเสียงมักแย่ลง เพราะประสาทการรับฟังเสียงบกพร่องไปตามวัย
การรักษา อาการหูอื้อ
1.กำจัดขี้หู คือ ดูดขี้หูส่วนเกินที่อุดตันอยู่ออก ไม่ควรแคะหู อาจหยอดยาละลายขี้หู หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
2.แรงดันอากาศ ใช้การกลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้าง ๆ แล้วเอามือบีบจมูกทั้งสองข้างและหายใจออกทางจมูกแรง ๆ อาจช่วยแก้อาการหูอื้อที่เกิดจากแรงดันอากาศได้ หรือ เอามือบีบจมูกแล้วเบ่งลมออกเบา ๆ
3.รักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หากอาการหูอื้อของมีสาเหตุมาจากโรค หรือ ภาวะของโรคบางอย่าง การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุนั้นจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ เช่น โรคหวัด การเป็นหวัดอาจทำให้เกิดจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือ ไซนัสอักเสบได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหูชั้นกลางและโพรงจมูก
4.ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจต้องเปลี่ยนยาเพื่อลดผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดหูอื้อ
5.ในกรณีที่อาการหูอื้อนั้นที่รุนแรงเกิดขึ้นได้จากการที่แก้วหูอักเสบหรือฉีดขาด จึงใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการหูอื้อที่เกิดขึ้น
อาการหูอื้อ แบบไหนควรรีบพบแพทย์
หากเกิดอาการหูอื้อเฉียบพลัน อยู่ ๆ ก็ไม่ได้ยินเสียง หรือ มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนหัว มีน้ำออกจากหู ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ
หูอื้อกับความเสี่ยงโรคอื่น ๆ
หูอื้อเป็นอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับช่องหู อาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้ เช่น ช่องหูชั้นนอกตีบแคบ ขี้หูอุดตัน การติดเชื้อในช่องหู แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวก โรคของเส้นประสาทรับเสียง โรคของสมอง มีเนื้องอก
วิธีรับมือป้องกันการ “หูอื้อ”
- กลืนน้ำลายบ่อย ๆ หรือ ใช้วิธีการเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อแก้อาการหูอื้อขณะโดยสารเครื่องบิน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา แอสไพริน, ยาซาลิไซเลต, ยาควินิน ที่มีพิษต่อประสาทหู
- ลดอาหารรสเค็ม ลดเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- งดสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินอาจขัดขวางการลำเลียงเลือดไปยังประสาทหูได้
- พยายามระมัดระวังเหตุการณ์ที่จะกระทบกระเทือนไปถึงหูได้
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการติดเชื้อที่หู หรือ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย
- ลดความเครียด วิตกกังวล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควบคุมโรคที่เป็นให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด เป็นต้น
วิธีดูแลสุขภาพหู
1.หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง การใส่หูฟังนาน ๆ หากต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
2.หลีกเลี่ยงการแคะหู ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู
3.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกที่ศีรษะ หรือ หู
4.หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นพิษต่อหูชั้นใน
5.หากมีการติดเชื้อที่หูควรรีบรักษา
กิจวัตรประจำวันหลายอย่างอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อได้ง่าย แต่หากลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และ รีบพบแพทย์เมื่อมีภาวะผิดปกติจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดอันตรายจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินไปตลอดกาล