Lazy Economy เศรษฐกิจขี้เกียจ เทรนด์สมัยใหม่ กลยุทธ์มัดใจมนุษย์ขี้เกียจ
ในยุคที่เทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ประกอบกับชีวิตเร่งรีบมากขึ้นและมีเวลาน้อยลง ผู้คนในปัจจุบันบางส่วนที่รู้สึกขี้เกียจ (Lazy Consumer) มักใช้เงินแก้ปัญหา ผู้บริโภคหลายคนยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตประจำวันให้สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นได้ โดยมีแนวความคิดว่าควรเอาเวลาไปทำสิ่งอื่นที่สำคัญมากกว่า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆนำไปสู่สังคมของความขี้เกียจ หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจขี้เกียจ” (Lazy Economy)
คุณเป็น “มนุษย์ขี้เกียจ” (Lazy Consumer) ใช่หรือไม่?
มนุษย์อยากดูดี แต่ไม่มีแรง
ใคร ๆ ก็อยากดูดี สุขภาพแข็งแรง แต่ปัญหาเดียว คือ ขี้เกียจออกกำลังกาย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 84% โดยสาเหตุแรกที่ขี้เกียจออกกำลังกาย คือ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเวลา และรู้สึกเหนื่อย แค่ทำงานมาแต่ละวันก็ถูกดูดพลังไปมากแล้ว การจะออกกำลังกายคงเป็นไปได้ยาก หรือแม้จะกระตุ้นตัวเองด้วยการดาวน์โหลดแอปฯ ออกกำลังกายมาแล้ว 68% บอกว่าไม่เคยใช้งานเลย
มนุษย์ชอบชอป แต่ไม่ชอบรอ
คติของมนุษย์ขี้เกียจ คือ ชอบใช้เงินแก้ปัญหา อยากได้อะไรให้ซื้อ ทว่า สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ขี้เกียจรอคิวซื้อของ เพราะรอนาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ เสียเวลาและยังทำให้เหนื่อยอีก ทำให้เกิดธุรกิจ “รับจ้างต่อคิว”
มนุษย์บ้านรก สกปรกค่อยทำ
แค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว จะให้เก็บกวาดบ้านอีกก็คงไม่ไหว ผลสำรวจบอกว่าเหตุผลที่ทำให้เราขี้เกียจเก็บบ้าน คือ ความเหนื่อย ไม่มีเวลา และเบื่อที่ต้องทำทุกวัน ทางออกของปัญหาข้อนี้ก็ไม่ยาก แค่จ้างแม่บ้านก็พอ
มนุษย์ไม่ชอบอ่าน แค่ผ่าน ๆ ก็พอ
คนส่วนใหญ่ชอบฟัง ชอบดู มากกว่าชอบอ่าน โดย 54% บอกว่า ขาดแรงจูงใจ อ่านทีไร ง่วงทุกที และ 33% บอกว่า ไม่มีเวลา เพราะการอ่านต้องใช้เวลาเยอะ
มนุษย์ชอบกิน แต่ไม่อินทำอาหาร
ในโลกโซเชียลมนุษย์ขี้เกียจจะชอบตระเวนกินอาหารอร่อย ๆ และอัปโหลดภาพในโซเชียล แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ทำเอง ส่วนใหญ่บอกว่าทำไม่เป็น เสียเวลา และเมื่อซื้อวัตถุดิบมาแล้ว เกิดเหลือขึ้นมาก็เสียดายของ การซื้อหรือสั่งมาจึงง่ายกว่า
ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่ม Lazy Consumer เปลี่ยนความขี้เกียจและความไม่มีเวลามาเป็นรายได้ของธุรกิจ
1.บริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery)
เหตุผลหลักที่บริการจัดส่งอาหารเป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นเพราะคนขี้เกียจเดินทาง และยอมจ่ายเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น จากการสำรวจ มีผู้คนจำนวนมากใช้บริการสั่งอาหารจากร้านใกล้ ๆ จุดที่ตัวเองอยู่ แสดงให้อย่างชัดเจนว่าไม่อยากเสียเวลาเดินเพื่อไปต่อคิวซื้ออาหารเอง จึงเลือกใช้บริการให้คนขับไปรับอาหารให้ตัวเอง
2.การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
ทำให้สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทุกทีทุกเวลาโดยไม่ต้องขนสินค้ากลับบ้านด้วยตัวเอง หรือต้องต่อแถวรอชำระเงิน
3.บริการรับทำความสะอาดบ้าน หรือพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น
ผู้คนในปัจจุบันไม่ชอบทำความสะอาดบ้าน ทำให้เกิดธุรกิจแม่บ้านหรือคนช่วยจัดการดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านขึ้นมา
4.บริการช่วยซื้อของ หรือบริการรับจองคิว
การต่อแถวซื้อของหรือรอเข้ารับบริการเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่รู้สึกว่าเสียเวลา จึงเกิดธุรกิจที่สามารถใช้เงินมาซื้อเวลารอได้ อย่างเช่น บริการรับรอคิวร้านอาหาร โรงพยาบาล ซื้อบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น
5.หุ่นยนต์ทำความสะอาด หรืออุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่สั่งการด้วยเสียง
ด้วยเทคโนโลยีให้ปัจจุบัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านเริ่มมีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดอัตโนมัติ หรือการสั่งงานด้วยเสียง ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดบ้าน
6.อาหารพร้อมทานหรือพร้อมดื่ม
อาหาร Ready-to-eat ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาหารพร้อมทานได้มอบความสะดวก และสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่นิยมออกมารับประทานอาหารที่ร้าน หรือไม่มีเวลา ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
7.ธุรกิจที่เน้นการฟัง
อย่างเช่น Podcast คลิปวิดีโอ ที่สรุปข้อมูลให้โดยไม่ต้องเสียเวลานั่งอ่านเอง และสามารถฟังพร้อมทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปพร้อมกันได้
8.บริการส่งอาหารถึงตู้เย็น
บริการส่งวัตถุดิบ และเครื่องปรุงทำอาหาร ด้วยการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน และจัดส่งสินค้าทั้งหมดผ่านพนักงานส่งของ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เดินเลือกซื้อ และออกแรงขนของกลับบ้านเอง
9.บริการเติมน้ำมันถึงที่
เป็นบริการที่ช่วยแก้ปัญหาคนขับรถที่น้ำมันหมดโดยไม่คาดคิด หรือบุคคลที่ไม่สะดวกหรือไม่มีเวลาไปเติมน้ำมันที่ปั๊มด้วยตัวเอง บริการนี้จะช่วยให้รถของผู้ใช้บริการมีน้ำมันเต็มถังได้โดยไม่ต้องขับไปเติมเองที่ปั๊มน้ำมัน
กลยุทธ์ “SLOTH” กลยุทธ์มัดใจมนุษย์ขี้เกียจ เพื่อตอบโจทย์ Lazy Consumer
กลยุทธ์ “SLOTH” ประกอบด้วย
- Speed (รวดเร็ว) การช่วยประหยัดเวลา ต้องทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องรอ และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา
- Lean (กระชับ) การลดขั้นตอนให้มากที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ท่องจำให้ขึ้นใจว่า “ลด ลัด ตัด ย่อ”
- Enjoy (สนุก) การทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกสนาน และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ
- Convenient (สะดวก) การอำนวยความสะดวก สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก สินค้าหรือบริการจะต้องช่วยให้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้น
- Happy (ความสุข) สามารถแก้ปัญหาของลูกค้า และทำให้ลูกค้าคลายกังวลและมีความสุขได้ ความสุขกาย สุขใจ และแก้ปัญหาได้ถูกจุด