วัดพระธาตุเรณู กราบสักครั้งหนุนนำชีวิตคนเกิดวันจันทร์
วัดพระธาตุเรณู
วัดพระธาตุเรณู หรือ วัดธาตุเรณู เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ
วัดพระธาตุเรณู เดิมชื่อ วัดกลาง เพราะสร้างขึ้นตรงกลางเมืองเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน เล่ากันมาว่าเจ้าผู้ปกครองเมืองคนแรกพร้อมด้วยอุปฮาดกรมการเมืองและราษฎรร่วมกันสร้างขึ้นแต่โบราณกาลมา ถือว่าวัดกลางเป็นวัดสำคัญของเมือง เป็นวัดสำหรับกระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณีด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพระธาตุเรณู" หรือ "วัดธาตุเรณู"
วัดมีองค์พระธาตุเรณูประดิษฐานอยู่โดยจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมเดิม (องค์ก่อนกรมศิลปากรบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2483) แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย แต่ยังไม่ทันจะทำการฉลองสมโภชก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายจนหมดสิ้น ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสจึงประชุมเห็นพร้อมกันว่าต้องทำการก่อสร้างพระธาตุนี้ขึ้นอีกให้ได้ โดยก่ออิฐให้หนาขึ้น ทำการก่อสร้างอยู่ราวปีกว่าก็สำเร็จเรียบร้อย จึงได้จัดงานฉลองสมโภชในปี พ.ศ. 2463 ทางวัดจะมีงานนมัสการสมโภชเป็นงานเทศกาลประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
พระธาตุเรณูมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุองค์เดิม สูง 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 8.37 เมตร ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ เรียกว่า ชะทาย ทำจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนังเป็นตัวประสาน มีซุ้มประตูหลอกทั้ง 4 ด้าน ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะเช่นเดียวกับส่วนฐาน แต่ทำซ้อนลดชั้นขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ เหนือขึ้นไปเป็นเอวขัน และส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งชาวลาวเรียกว่า หัวน้ำเต้า หรือแบบหมากปลี ซึ่งหมายถึงปลีกล้วย ภายในบรรจุพระไตรปิฎก
อุโบสถประจำวัดธาตุเรณูสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2551 ภายในยังประดิษฐาน พระองค์แสน พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ศิลปะแบบลาว
พระธาตุเรณูนอกจากเป็นพระธาตุประจำเมืองเรณูนครแล้ว ยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ด้วย ซึ่งเชื่อว่าสอดคล้องกับลักษณะอ่อนช้อย สีสันนุ่มละมุนสบายตา แต่เปี่ยมไปด้วยความสง่างาม ตามรูปแบบศิลปะล้านข้าง เปรียบดังอาชาไนยต้นพาหนะประจำพระจันทร์ และนอกจากนี้ตัวของพระธาตุเองยังหันหน้าไปทาง ทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศ ประจำของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เรณูนครยังเป็นที่ร่ำลือวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม เครื่องแต่งกายต่างๆ การฟ้อนรํา กิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน ล้วนแล้วแต่มีความโดดเด่นขึ้นชื่อ สวยงาม ผ่องใส เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้ที่ได้รู้จัก เปรียบเสมือนพระจันทร์บนท้องนภา ที่ไม่ว่าใครก็อยากจะหมายปอง
พระอรหันต์ประจําทิศได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ” ซึ่งถือเป็นผู้รู้แจ้งเห็นธรรมมาช้านาน แผ่นดินนี้จึงมีแต่ ความมีสงบสุข จากอิทธิพลของเทวดาประจําวันได้ส่งผลให้ผู้ที่ถือกําเนิดขึ้นในวันจันทร์ เป็นผู้ที่มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตากรุณา ขี้สงสารต่อ ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญู มีจิตใจผ่องใส มีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีความอ่อนโยน ยามที่ตกทุกข์มักจะมีคน มาช่วยเหลือ รูปร่างหน้าตาแต่งแต้มไปด้วยเสน่ห์ ช่างคิด ช่างฝัน หวั่นไหวง่าย แต่ที่เข้มแข็งเมื่อสถานการณ์บีบบังคับ
คาถาบูชาพระธาตุเรณู
(ท่องนะโม 3 จบ) ปุริมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม ทักขิณายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญะกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม ปัจฉิมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญะกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม
สำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์ ท่องคาถาบูชาดวงวันเกิดว่า อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา (15 จบ)
การเดินทาง จากสถานีขนส่ง ยังไม่มีรถจากอำเภอเมืองฯ ไปอำเภอเรณูนครโดยตรง ต้องขึ้นรถสายที่ไปวัดพระธาตุพนม และลงตรงแยกบ้านหลักศิลา จากนั้นเหมารถสกายแล็ปเข้าไปที่วัด ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
หากเดินทางโดยรถยนต์ พระธาตุเรณูอยู่ห่างจากพระธาตุพนม 15 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ 51 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 44 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2031 อีกประมาณ 7 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอด
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย
https://pukmudmuangthai.com/detail/21501
https://travel.kapook.com/view55979.html