"วิจารณ์" อย่างไร ไม่ให้เสียมิตรภาพ
"วิจารณ์" อย่างไร ไม่ให้เสียมิตรภาพ
ข้อที่ 1 เคารพการเป็นส่วนตัว
แสดงให้เห็นว่าคุณต้องการให้เขาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ไม่ได้ต้องการเหยียบย่ำตัวตนของเขา หากจะวิจารณ์เขา ควรหาพื้นที่ส่วนตัวที่มีเพียงคุณและเขาสองคนเท่านั้น จะช่วยให้เขาพร้อมรับฟังคุณมากขึ้นกว่าเดิมและต่อต้านคุณน้อยลง
ข้อที่ 2 ต่อด้วยคำชม
ควรมีการเอ่ยชม ด้วยน้ำเสียงที่ปรานี แววตาที่จริงจัง คำพูดที่เป็นห่วงเป็นใย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเองไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆให้คุณนึกถึง แต่ยังมีเรื่องดีๆ อยู่ในสายตาของคุณบ้าง แล้วบรรยากาศรอบตัวคุณและเขาก็จะดีขึ้น แรงต่อต้านของเขาที่มีต่อคุณจะเบาบางลงและหายไปในที่สุด ทั้งนี้ สามารถกระทำได้หลังจากที่ตำหนิเขาไปเรียบร้อยแล้วหรือบางทีคุณอาจจะเอ่ยชมถึงสิ่งดีๆ ของเขาเสียก่อน ก่อนที่จะเริ่มต้นตำหนิหรือวิจารณ์ในสิ่งที่คุณเห็นว่าเขาควรแก้ไข
ข้อที่ 3 วิจารณ์การกระทำไม่ใช่ตัวตนของเขา
คุณต้องตำหนิสิ่งที่เขาทำผิดหรือความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของเขา แต่ต้องไม่ใช่การวิจารณ์ตัวตนของเขา เพราะอาจจะสร้างความคับแค้นใจให้แก่เขาได้ง่ายๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว
เช่น
"จากการทำงานที่ผ่านมาของคุณ มันทำให้ผมเชื่อว่าคุณสามารถทำงานได้ดีมากกว่านี้ ผมคิดว่างานชิ้นนี้มันไม่ถึงระดับมาตรฐานที่คุณเคยทำมาก่อนหน้านี้"
การพูดในลักษณะนี้เท่ากับว่าคุณได้บอกให้เขารู้ว่า เขามีความดีมากกว่าความผิด และคุณยังเชื่อว่าเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้น มันจะทำให้เขามีกำลังใจและมีความพยายามที่จะทำงานให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ข้อที่ 4 พร้อมจะบอกหนทางแก้ไข
เมื่อคุณบอกเขาถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น คุณก็ต้องพร้อมที่จะบอกถึงหนทางแก้ไขให้แก่เขาด้วย เพื่อให้เขาได้กลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ดีขึ้น การที่คุณเอาแต่พูดถึงข้อผิดพลาดโดยไม่แนะนำสิ่งที่ถูกต้องแก่เขา เท่ากับว่าคุณสนใจเพียงแค่จะตำหนิ
ข้อที่ 5 ขอความร่วมมือไม่ใช่ขู่บังคับ
คำพูดในลักษณะขอร้องให้ช่วยเหลือ จะทำให้เขารับทราบความผิดที่เกิดขึ้นและเต็มใจที่จะแก้ไข เนื่องจากเป็นคำพูดที่แสดงให้เขาเห็นว่าคุณวางเขาไว้ในระดับเดียวกันกับคุณ คุณไม่ได้อยู่สูงกว่าเขาและเขาก็ไม่ได้อยู่ต่ำกว่าคุณ คุณและเขาอยู่ในฐานะเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่อีกฝ่ายต้องการความช่วยเหลือ
ข้อที่ 6 การตําหนิ
สิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเรียกเขาเข้ามาตำหนิหรือวิจารณ์ คือกระทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบไป หากมากไปกว่านี้คุณต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่า ต้องการอะไรจากการตำหนิเขาในเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าต้องการให้เขาปรับปรุงตัวหรือต้องการที่จะทำลายตัวตนเขาตามความสะใจของคุณ
ข้อที่ 7 จบลงด้วยมิตรภาพ
บทสรุปสุดท้ายของการวิจารณ์หรือตำหนิ ทั้งคุณและเขาต้องจบลงด้วยมิตรภาพที่ดี มีการปลอบใจเขา เช่น แตะไหล่หรือตบหลังเขาเบาๆ พร้อมคำพูดสร้างพลังใจ บอกให้เขารู้ว่าคุณเชื่อในตัวเขาเหมือนเดิม
อ้างอิงจาก: หนังสือฉลาดทันคนในทุกสถานการณ์ (พิมพ์ครั้งที่ 3) เขียนโดย ปรีดา อริยะมิตร