จริงหรือไม่!! พิซซ่าป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้
จริงหรือไม่!! พิซซ่าป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้
จากหนังสือ คัมภีร์สุขภาพ โดย นพ.ซานจิฟ โซปรา / นพ.อลัน ล็อตวิน / เดวิด ฟิชเชอร์
คุณหมออลัน ล็อตวิน หนึ่งในนักเขียนหนังสือฉบับนี้ พูดว่า พิซซ่าก็นับว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าได้ "เพราะประกอบด้วยอาหารหลักทั้งสี่หมู่ไม่ว่าจะเป็นธัญพืชและเมล็ดพืช น้ำมัน ผักผลไม้ หรือโปรตีน ทั้งยังอร่อย แถมยังมีบริการส่งถึงที่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเนื้องอกชนิดที่พบมากที่สุดในสังคมอุตสาหกรรมและเป็นอันดับสองของสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้ชายในสหรัฐ พบว่าเกือบหนึ่งในห้าของผู้ชายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 31,500 คน แต่สิ่งที่ทำให้นักวิจัยสงสัยในตอนแรกก็คือ ในส่วนอื่นๆ ของโลกซึ่งพบโรคนี้น้อยกว่ามาก เช่น ในญี่ปุ่นหรือจีน แต่เมื่อผู้ชายญี่ปุ่นหรือจีนอพยพมาอยู่ในอเมริกา ภายในรุ่นเดียวผู้ชายกลุ่มนี้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อลูกหมากมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความสงสัยในตัวเลขทางสถิตินี้นำไปสู่ข้อสรุปว่า ปัจจัยด้านอาหารและสภาพแวดล้อมน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อสาเหตุของโรคนี้
สำหรับเบาะแสที่บอกว่าผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศน่าจะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ คือ
งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาซึ่งทำขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศสัปดาห์ละห้าหน่วยบริโภคขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบผู้ชายที่รับประทานผลิตภัณฑ์จำพวกนี้น้อยกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค
งานวิจัยอีกหลายชิ้นในเวลาต่อมาเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารชี้ให้เห็นว่า การกินมะเขือเทศหรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ เช่น ซอสมะเขือเทศที่ใช้ทำพิซซ่า อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ พูดให้ชัดขึ้นก็คือ นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า สารไลโคปีนซึ่งพบทั้งในมะเขือเทศดิบและที่ปรุงแล้วและเป็นสารที่ทำให้มะเขือเทศมีสีแดง อาจเป็นสารเคมีที่ให้สรรพคุณในการป้องกันโรคได้บ้าง ปริมาณไลโคปีนในมะเขือเทศจะแตกต่างกับขึ้นอยู่กับชนิดของมะเขือเทศและระยะที่สุก ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารอเมริกัน ชาวอเมริกันบริโภคมะเขือเทศประมาณปีละ 91 ปอนด์ (ปริมาณ 41 กิโลกรัม) ทั้งในพิซซ่า ซอสพาสต้า ซัลซ่า ซอสพริก ซุปมะเขือเทศ และมะเขือเทศฝาน
งานวิจัยติดตามผล Health Professionals Follow-Up Study แสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ในมะเขือเทศ งานวิจัยนี้ทำขึ้นที่วิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ดและตีพิมพ์ในปี 1995 โดยนักวิจัยได้ติดตามบุคลากรด้านสุขภาพเพศชายจำนวน 48,000 คน เป็นเวลา 6 ปี ผลลัทธ์ที่ได้พบว่า การกินมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ หรือพิซซ่า มากกว่าสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ร้อยละ 21-34 โดยขึ้นอยู่กับอาหารแต่ละชนิด และพบว่า ไลโคปีนดูดซึมได้ง่ายที่สุดเมื่อมะเขือเทศถูกปรุงสุกหรือผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่การวิจัยของฮาร์วาร์ดชิ้นนี้ไม่พบว่าการดื่มน้ำมะเขือเทศซึ่งอุดมด้วยไลโคปีนให้ผลดีเช่นเดียวกัน งานวิจัยอื่นๆ ซึ่งแม้จะให้ข้อสรุปไม่ชัดเจน ก็ระบุว่าไลโคปีนในน้ำมะเขือเทศอาจดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ไม่ดีนัก
งานวิจัยเกี่ยวกับไลโคปีนที่น่าสนใจที่สุดเป็นการวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการประชาชนแห่งสหรัฐฯ ในการวิจัยนี้จำนวน 26,000 คนที่ไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้รับการตรวจคัดกรองและเฝ้าติดตาม จนกระทั่งเริ่มมีอาการมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเสียชีวิต หรือการวิจัยสิ้นสุดลง การตรวจสอบข้อมูลไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปริมาณไลโคปีนในร่างกายของคนที่เริ่มมีอาการมะเร็งกับคนที่ไม่เป็นมะเร็ง ดร.อุลริค ปีเตอร์ส จากสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเฟรดฮัทชินสันอันโด่งดังกล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าผิดหวัง ทั้งที่ไลโคปีนน่าจะเป็นหนทางช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่อมลูกหมากที่ราคาถูกและหารับประทานได้ง่ายสำหรับผู้ชาย"
สิ่งที่เป็นไปได้คือ อาจไม่ใช่แค่ไลโคปีนที่มีสรรพคุณในการป้องกัน แต่น่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของไลโคปีนกับสารเคมีอื่นๆในมะเขือเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะแยกส่วนประกอบทางเคมีในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติออกจากกันและวิเคราะห์หาข้อสรุปเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของมัน จากการทดสอบในห้องทดลอง มะเขือเทศผงสามารถยับยั้งการพัฒนาของมะเร็งต่อมลูกหมากในหนูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่เชื่อกันจนเกือบจะกลายเป็นสากลไปแล้วก็คือ ผักผลไม้ดิบดีต่อสุขว่าชนิดที่ปรุงสุกแล้ว นั่นก็ถูกต้องในบางกรณี แต่ไม่ใช่กรณีนี้ เพราะมะเขือเทศที่ปรุงสุกแล้ว ไม่ว่าแบบกระป๋องหรือแปรรูป ล้วนอุดมด้วยไลโคปีนมากกว่าในผลมะเขือเทศดิบสดๆมาก อาจเป็นเพราะไลโคปีนอยู่ในโครงสร้างเซลล์ของมะเขือเทศความร้อนจากการปรุงอาหารจะทำลายโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ไลโคปีนย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ซอสมะเขือเทศมีไลโคปีนมากกว่าที่พบในมะเขือเทศ 5 เท่า และซอสสปาเกตตีก็มีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศดิบถึง 7 เท่า สินค้ามากมายอวดอ้างถึงปริมาณไลโคปีนและกล่าวอ้างแบบกว้างๆถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ข้อมูลดังกล่าวน่าสงสัยอยู่ แม้ไลโคปีนที่บริโภคเป็นประจำในปริมาณที่ค่อนข้างมากจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ลดได้มากเพียงใดนั้นยังไม่มีผลยืนยัน ทั้งยังยากที่จะประเมินผลด้วย เพราะผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศไม่ได้มีไลโคปีนในระดับความเข้มข้นที่วัดได้แน่นอน เช่น อาจเป็นเรื่องยกที่จะรู้ได้ว่าในพิชซ่าชิ้นสุดท้ายของคุณมีซอสมะเขือเทศอยู่มากแค่ไหน
ประโยชน์ของไลโคปีนที่มีต่อสุขภาพยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณรับประทานไปพร้อมกันด้วย มีหลักฐานมากมายแสดงว่าไลโคปีนดูดซึมได้ง่ายที่สุดเมื่ออยู่พร้อมกับไขมัน เช่น น้ำมันมะกอก ชีส และเนื้อบด
นี่จึงเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่พิสูจน์ได้ว่า คำกล่าวอ้างเกินจริงมีความถูกต้องอยู่บ้างในระดับหนึ่ง แต่เป็นเรื่องยากในการทำวิจัย เพราะมีตัวแปรมากมาย ดังนั้น แม้ว่าผลิตภัณฑ์มะเขือเทศจะมีอยู่ทั่วไปในอาหารส่วนใหญ่ของชาวอเมริกัน แต่ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหากลุ่มควบคุมสำหรับดำเนินการวิจัยที่น่าเชื่อถือ กระนั้นก็เป็นเรื่องดีที่ผู้ชายควรบริโภคผลิตภัณฑ์มะเขือเทศให้มากเข้าไว้ และใส่ซอสมะเขือเทศลงในสปาเกตตีด้วย ถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อตนเอง
ถ้าอย่างนั้น คำพูดติดตลกของคุณหมออลันก็น่าจะถือเป็นจริงจังและทำให้เรากล้ากินพิซซ่าสักชิ้นแล้ว แต่แค่ชิ้นเดียวเท่านั้นนะ เพราะนอกจากซอสมะเขือเทศที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆอันอุดมในพิซซ่า เช่น ไขมันอิ่มตัว ชีส และเกลือ ไม่ดีต่อสุขภาพคุณเลย ดังนั้นเมื่อจะเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเพื่อสุขภาพ ขอให้คำนึงถึงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งคุณอาจกำลังรับเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน
จงอร่อยกับซอสสปาเกตตีต่อไป ไลโคปีนที่พบในผลิตภัณฑ์มะเขือเทศอาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังไม่มีพิษภัย แต่ไม่ต้องไปสนใจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไลโคปีน เพราะไม่มีคุณประโยชน์แบบเดียวกับมะเขือเทศที่ปรุงสุกแล้วหรือแบบสดเลย จริงๆแล้วถือเป็นเรื่องยากมากในการพิสูจน์ค่าของสารเดี่ยวๆในอาหารไลโคปีน เพราะอาหารเกิดจากการผสมผสานที่ซับซ้อนของส่วนประกอบนับไม่ถ้วน ซึ่งมีวิวัฒนาการมาหลายศตวรรษ
อ้างอิงจาก: หนังสือ คัมภีร์สุขภาพ เขียนโดย ซานจิฟ โซปรา / อลัน ล็อตวิน / เดวิด ฟิชเชอร์