การจัดดอกไม้ บำบัดใจ ผ่อนคลายความเครียด ดีต่อสุขภาพจิต กิจกรรมที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น
ดอกไม้ กับ สุขภาพจิต
1.ส่งเสริมด้านอารมณ์
มีผลการศึกษางานวิจัยหลากแขนงและหลายสถาบันชี้ให้เห็นว่าดอกไม้ สามารถช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้จริง ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พบว่า การตื่นเช้ามาแล้วมองเห็นดอกไม้เป็นสิ่งแรกของวัน ทำให้อารมณ์ดีและมีความสุขมากขึ้น ทั้งดอกไม้ที่ปักอยู่ในแจกัน ช่อดอกไม้ที่เพิ่งได้รับเป็นของขวัญ หรือแปลงดอกไม้ที่สวนหลังบ้าน
กลิ่นของดอกไม้ ช่วยลดระดับคอร์ติซอลที่ทำให้เกิดความเครียด สามารถหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน(สารแห่งความสุข) เมื่อได้กลิ่นดอกไม้ทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น อย่างเช่น ลาเวนเดอร์ ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ทำให้จิตใจสงบและนอนหลับได้สนิทขึ้น
สี มีผลทางอารมณ์และความรู้สึก อย่างเช่น สีแดงหมายถึงความรักและหลงใหล สีขาว หมายถึงความสงบ สีเหลืองหมายถึงความสดใส การเข้าใจอารมณ์ของสีจะทำให้การจัดดอกไม้สนุก สร้างสรรค์และสื่อความหมายได้ตรงกับความรู้สึกมากขึ้น
2.เพิ่มความชื้นในอากาศ
ดร.ดัสกุปตา (Dr. Dasgupta) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ และศาสตราจารย์ประจำ Keck School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) เผยว่า การจัดดอกไม้ ใส่แจกันแล้ววางไว้ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือภายในบ้าน เป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ ดอกไม้สามารถคายความชื้นสู่อากาศ ซึ่งดีต่อการหายใจเพราะสภาพอากาศที่แห้งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
3.ดีต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัว
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตต (Kansas State University) ที่ว่า ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่พักรักษาตัวอยู่ในห้องที่มีดอกไม้สดอยู่ด้วย มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากเข้ารับการรักษา รวมถึงความเครียด อาการวิตกกังวลขณะเข้ารับการรักษาก็ลดลงด้วย
4.สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย กระตุ้นสมาธิ
นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมและนักออกแบบอย่าง ดัก โคเปก (Dak Kopec) กล่าวว่า การจ้องมองดอกไม้มีส่วนช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพในการทำงานด้วย เพราะขณะมองดอกไม้ในเวลาทำงานจะช่วยให้เกิดสติ มีสมาธิมากขึ้น ทั้งยังผ่อนคลายความเมื่อยล้า ซึมเศร้า หรือความเบื่อหน่ายในเวลาทำงาน ความรู้สึกผ่อนคลายมีส่วนช่วยให้งานที่ทำอยู่มีแนวโน้มคุณภาพงานดีขึ้น
สีสันของดอกไม้ที่แตกต่างกัน ความหลากหลายของชนิดดอกไม้ที่ไม่เหมือนกัน ยังมีส่วนช่วยลดระดับความเครียด เพิ่มความสุข อารมณ์ที่ดีให้แก่ผู้ที่พบเห็น
ผลการศึกษา การวิจัยที่หลากหลาย เผยให้เห็นว่า การมีดอกไม้อยู่ใกล้ตัว การปลูกดอกไม้ การจัดดอกไม้ ล้วนมีส่วนช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น แม้ไม่แสดงผลลัพธ์ในทางตรง แต่ก็มีส่วนช่วยในทางอ้อม
ประโยชน์ดีของการ จัดดอกไม้
อารมณ์ดีขึ้น ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีดอกไม้อยู่รายล้อมตัว ไม่ว่าจะในห้องนอน ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น หรือแม้แต่สวนดอกไม้เล็ก ๆ หน้าบ้านหรือหลังบ้าน จะรู้สึกถึงพลังงานบวกได้ดี ทำให้อารมณ์ดี มีความสุข มีความเครียดและความวิตกกังวลน้อยลง ในขณะที่จัดดอกไม้ เราจะได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้หลายชนิด ความสนใจและสมาธิทั้งหมดจะพุ่งไปที่การตกแต่งดอกไม้ จับดอกนั้นมาคู่กับดอกนี้ ความเพลิดเพลินใจขณะที่กำลังจัดแต่งดอกไม้ ทำให้ความเครียด ความกังวลต่าง ๆ ลดน้อยลงทดแทนความด้วยความสนุกในการทำกิจกรรมแทน
กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การจัดดอกไม้ช่วยกระตุ้นให้สมองมีการขบคิด และสร้างไอเดียเพื่อรังสรรค์ดอกไม้ที่กองอยู่ตรงหน้าให้ออกมาสวยงาม
เสริมสมาธิ ผลการวิจัยพบว่า เด็ก ๆ ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทั้งการปลูกดอกไม้ ปลูกต้นไม้ หรือ การจัดดอกไม้ สภาพแวดล้อมที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จะช่วยให้เด็กมีสมาธิ จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ และมีส่วนร่วมกับธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น วัยผู้ใหญ่ บางครั้งอาจพบว่ารู้สึกไม่ค่อยมีสมาธิ หรือจิตใจไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย ลองปลูกต้นไม้ หรือซื้อดอกไม้มาจัดแจกัน หรือไปร่วมกิจกรรมจัดดอกไม้ตามเวิร์กช็อปต่าง ๆ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดสมาธิมากขึ้นได้ การจัดดอกไม้ทำให้มีการโฟกัสกับกิจกรรมตรงหน้าและได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เป็นเหมือน Downtime ให้กับจิตใจ คือ ช่วงเวลาที่ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน หยุดความวุ่นวายประจำวัน ปล่อยจิตใจไปกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
สร้างความสัมพันธ์ อาจได้มิตรภาพและเพื่อนใหม่ที่มาร่วมคอร์สจัดดอกไม้ด้วยกัน ขณะทำกิจกรรมจะมีการพูดคุย ถามไถ่ หรือช่วยกันออกไอเดียในการจัดดอกไม้ ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น อาจช่วยกระชับความสัมพันธ์กับใครสักคนให้ดีขึ้นได้ การให้/การได้รับ การมอบดอกไม้เป็นเหมือนการมอบพลังบวกให้กับคนรอบข้าง เป็นการส่งต่อความรู้สึกดี ๆ และ Made the day ให้ผู้รับได้ เมื่อได้มอบสิ่งดี ๆ ให้ใคร เราเองก็จะได้รับความรู้สึกดีกลับมาเช่นกัน
กระตุ้นความจำ ผลการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่า ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (Neurocognitive) ที่เข้ารับการบำบัดด้วยกิจกรรมการจัดดอกไม้ที่มีขั้นตอนให้ปฏิบัติตาม เมื่อจัดเสร็จแล้วให้ผู้ป่วยนำดอกไม้ที่จัดกลับบ้านไปด้วย จากการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว พบว่า ช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลมากขึ้นผ่านการสนทนา