โรคกลัวความสกปรก (Mysophobia) กลัวเชื้อโรค หวาดระแวงเชื้อโรค ไม่กล้าสัมผัสอะไร
โรคกลัวความสกปรก (Mysophobia) หรือ โรคกลัวเชื้อโรค (Germaphobia) จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัว (Phobia) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวสิ่งสกปรก เชื้อโรค และการปนเปื้อนอย่างรุนแรง และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความเลอะเทอะ หรือสกปรก อาจจะล้างมือบ่อยครั้งซ้ำไปซ้ำมา หรือไม่กล้าสัมผัสกับใครเพราะกลัวติดเชื้อโรค ทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการกลัวเชื้อโรคยิ่งรุนแรงขึ้น
อาการของผู้ที่เป็นโรคกลัวความสกปรก
อาการที่พบเห็นได้ทั่วไป
- ล้างมือบ่อยเกินไป
- ใช้สบู่เจลล้างมือ หรือน้ำยาสำหรับฆ่าเชื้อโรคในปริมาณมาก
- กลัวการสัมผัสกับผู้อื่น
- กลัวการป่วยอย่างรุนแรง
- แสดงออกให้เห็นถึงอาการหวาดกลัวเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคอย่างเห็นได้ชัด
- หมกหมุ่นอยู่กับความสะอาด
- คิดหมกหมุ่นเรื่องเชื้อโรคและความสกปรก แค่คิดว่าจะต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกก็รู้สึกวิตกกังวล กลัวว่าการสัมผัสเชื้อโรคจะทำให้ไม่สบาย
- ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่บางแห่ง อย่างเช่น แหล่งทิ้งขยะ โรงพยาบาล ห้องน้ำสาธารณะสนามบิน เป็นต้น
- กลัวเชื้อโรคและความสกปรก แม้จะรู้ว่าความรู้สึกกลัวเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลแต่ไม่สามารถควบคุมความกลัวได้
- พยายามไม่เข้าใกล้คนที่ดูสกปรก ไม่สัมผัสสิ่งของที่ดูไม่สะอาด หรือเป็นของที่มีคนใช้ร่วมกัน อย่างเช่น คีย์บอร์ด ลูกบิดประตู
- รักสะอาดมากผิดปกติ อย่างเช่น ใช้เวลาอาบน้ำและล้างมือนาน หรือทำซ้ำหลายครั้งในระหว่างวัน สวมถุงมือหรือใช้วัสดุคลุมสิ่งของ อย่างเช่น พวงมาลัยรถยนต์ รีโมทคอนโทรล เพื่อป้องกันความสกปรก
- แสดงอาการวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก(Panic) เมื่อนึกถึงหรือต้องสัมผัสเชื้อโรค อย่างเช่น เหงื่อออกมาก หายใจเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น กระสับกระส่าย ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร้องไห้ และกรีดร้อง ในเด็กอาจมีอาการร้องไห้งอแง ไม่ยอมห่างจากพ่อแม่ ร้องอาละวาด (Tantrums) นอนไม่หลับ และความภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ลดลง
- คุณภาพชีวิตแย่ลง มีปัญหาด้านการเรียนและการทำงาน
โรคกลัวความสกปรก เกี่ยวข้องอะไรกับ โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือไม่?
ความคล้ายคลึงกันระหว่างโรคกลัวความสกปรกกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder ; OCD) เนื่องจากหนึ่งในอาการที่พบได้มากของทั้งสองโรค คือ อาการล้างมือบ่อย ๆ แต่จุดประสงค์ในการล้างมือของทั้งสองโรคนี้จะมีความแตกต่างกัน
โรคย้ำคิดย้ำทำ จะล้างมือเพื่อบรรเทาความรู้สึกเป็นทุกข์ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่สมบูรณ์ เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่พวกเขารู้สึกว่าต้องทำ เพื่อให้ขจัดความกังวลและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น
ผู้ที่เป็นโรคกลัวความสกปรก จะล้างมือโดยมีจุดประสงค์แค่เพียงต้องการกำจัดเชื้อโรคเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง 2 โรคนี้อาจจะมองออกยาก ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นผู้วินิจฉัยโรค
สาเหตุของการโรคกลัวความสกปรก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยผู้ที่กลัวเชื้อโรคมักมีอาการตั้งแต่เด็ก อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- พันธุกรรมหรือคนในครอบครัวมีอาการกลัวเชื้อโรค เป็นโรควิตกกังวลโรคซึมเศร้า หรือโรคกลัวอื่น ๆ
- สารเคมีในสมองและการทำงานของสมองผิดปกติ
- ประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กที่ทำให้เกิดความกลัวเชื้อโรคและสิ่งสกปรก อย่างเช่น สูญเสียคนในครอบครัวจากการติดเชื้อโรค
- ถูกปลูกฝังความเชื่อและพฤติกรรมรักสะอาดมาตั้งแต่เด็ก
การรักษาโรคกลัวความสกปรก
การบำบัด อย่างเช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy ; CBT) สามารถช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถเผชิญหน้ากับความกลัวต่อเชื้อโรคและสิ่งสกปรกได้มากยิ่งขึ้น
การบำบัดโดยใช้เทคนิค Exposure therapy ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับต้นตอของความกลัวโดยตรง โดยมีเป้าหมายในการลดความวิตกกังวลและความกลัวต่อเชื้อโรคที่ทำให้เกิดความกลัวเหล่านั้น
การใช้ยา ในบางกรณีอาจต้องมีการใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI หรือ SNRI ร่วมกับการทำจิตบำบัด เพื่อช่วยควบคุมและบรรเทาอาการวิตกกังวลจากการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับต้นตอของความกลัวในระหว่างการบำบัด นอกจากนี้ก็อาจใช้ยาอื่น อย่างเช่น ยากดประสาท เพื่อช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล
การปรับไลฟ์สไตล์ ลักษณะไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจช่วยในการบรรเทาความกลัวต่อเชื้อโรคได้ อย่างเช่น นั่งสมาธิ ทำจิตให้ผ่อนคลาย โยคะ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดการบริโภคคาเฟอีนและสารกระตุ้น ที่อาจส่งผลให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้นได้